บทวิเคราะห์ : จับคู่ช่วยทิเบตพัฒนา

(CRI)วันศุกร์ 09 กันยายน 2022

“ส่วนกลางสนับสนุนทิเบต ทั่วทั้งประเทศช่วยเหลือทิเบต” เป็นนโยบายของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนกลางได้ส่งเสริมมาตรการจับคู่ช่วยเหลือเขตปกครองตนเองทิเบตให้มากยิ่งขึ้น เขตทิเบตจึงได้เข้าสู่ยุคที่เศรษฐกิจพัฒนาเร็วที่สุด มีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคมากที่สุด และชาวทิเบตได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนามากที่สุด

การที่รัฐบาลจีนจัดให้พื้นที่ที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วไปจับคู่กับหมู่บ้าน อำเภอ และเมืองต่าง ๆ ของเขตทิเบต เป็นลู่ทางสำคัญในการเร่งการพัฒนาของเขตทิเบต ย้อนกลับเมื่อปี 1994 การประชุมครั้งที่ 3 เกี่ยวกับงานของเขตทิเบตของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนริเริ่มมาตรการการจับคู่ช่วยเหลือเขตทิเบต โดยระบุว่า ความช่วยเหลือแบบการจับคู่กันนี้รวมถึงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ บุคลากร การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น โดยจัดการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวทิเบตเป็นภาระหน้าที่อันดับแรก เพื่อผลักดันการสร้างสรรค์ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การมีงานทำ ประกันสังคม และโครงการชีวิตความเป็นอยู่ต่าง ๆ อีกทั้งส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ มาตรการการจับคู่ช่วยเหลือเขตทิเบตยังเน้นความสำคัญในการเสริมทักษะด้านการพัฒนาด้วยตนเองของเขตทิเบตด้วย เพื่อเปลี่ยนความเหนือกว่าด้านทรัพยากร และภูมิศาสตร์ของเขตทิเบตให้เป็นความเหนือกว่าทางเศรษฐกิจโดยเร็ว

จนถึงปัจจุบัน จีนได้จัดกิจกรรมการจับคู่ช่วยเหลือเขตทิเบตรวม 10 รอบมาแล้ว โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเขตทิเบตจำนวนกว่า 6,000 โครงการ มูลค่าการลงทุนเพื่อจับคู่ช่วยเหลือเขตทิเบตมีกว่า 50,000 ล้านหยวน และได้จัดส่งบุคลากรแขนงงานต่าง ๆ จำนวนกว่า 12,000 คนไปทำงานที่เขตทิเบต ช่วยให้มูลค่าการผลิตของเขตทิเบตได้เพิ่มจาก 7,100 ล้านหยวนในปี 2012 มาเป็น 20,800 ล้านหยวนในปี 2021 โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าภายในเวลา 10 ปี รายได้ที่จับจ่ายได้เฉลี่ยต่อคนของชาวทิเบตได้เพิ่มขึ้นเป็นหลักสิบอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 19 ปี รายได้ที่จับจ่ายได้เฉลี่ยต่อคนของเขตทิเบตได้เพิ่มจาก 5,698 หยวนในปี 2012 มาเป็น 16,935 หยวนในปี 2021 อายุเฉลี่ยของชาวทิเบตคิดเป็น 72.19 ปีในปัจจุบัน นอกจากนี้ เขตทิเบตได้ขจัดความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) ในปลายปี 2019 และได้เข้าสู่สังคมแบบพอกินพอใช้พร้อมกับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศจีนในปี 2021

การให้ความช่วยเหลือด้านอุตสาหกรรมการผลิตเป็นภาระหน้าที่อันดับแรกของมณฑลกว่างตงในการจับคู่ช่วยเหลือเขตทิเบต มณฑลกว่างตงทางใต้ของจีนห่างจากเขตทิเบตทางตะวันตกของจีนประมาณ 2,300 กิโลเมตร มณฑลกว่างตงเป็นพื้นที่ที่ได้ดำเนินการปฏิรูปและเปิดกว้างเร็วที่สุดในจีน และเป็นมณฑลหนึ่งที่มั่งคั่งที่สุดของจีน แต่ในอดีต เขตทิเบตได้เคยเป็นพื้นที่ยากจนสุดขีดของจีน

อุตสาหกรรมการผลิตใบชาถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของมณฑลกว่างตงในการจับคู่ช่วยเหลือเขตทิเบต ทีมงานช่วยเหลือเขตทิเบตจากมณฑลกว่างตงได้พัฒนาไร่ชาชื่อว่า “ไร่ชามณฑลกว่างตง” ที่มีพื้นที่ 140 เฮกตาร์ในอำเภอโม่ทัว เมืองหลินจือ เขตทิเบต และสร้างฐานการเพาะปลูกต้นอ่อนชาที่มีพื้นที่กว่า 2 เฮกตาร์ อีกทั้งจัดให้วิสาหกิจผลิตใบชาที่มีชื่อเสียงจากมณฑลกว่างตงไปช่วยเหลือพัฒนาการแปรรูปใบชาที่เขตทิเบต ด้วยความช่วยเหลือจากมณฑลกว่างตง อุตสาหกรรมการผลิตใบชาของอำเภอโม่ทัวได้พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คาดว่า ปีนี้ พื้นที่ปลูกชาของอำเภอโม่ทัวจะมีถึง 800 เฮกตาร์ การผลิตใบชากลายเป็นลู่ทางสำคัญในการเพิ่มรายได้และสร้างความมั่งคั่งของชาวอำเภอโม่ทัว เขตทิเบต

พร้อมกันนี้ มณฑลกว่างตงยังช่วยให้บริษัท ต๋าหวาฉี่ว์เจิง ธุรกิจแปรรูปเห็ดมัตสึทาเกะที่ใหญ่ที่สุดของเมืองหลินจือ เขตทิเบต ส่งออกเห็ดมัตสึทาเกะเข้าสู่ตลาดของเขตมาเก๊า ครอบครัวซังจูจากตำบลปาหยี เมืองหลินจือ ประกอบอาชีพการเก็บเห็ดมัตสึทาเกะ ปัจจุบัน ซังจูได้เก็บเห็ดมัตสึทาเกะแล้วก็ส่งไปขายที่จุดสั่งซื้อที่อยู่ใกล้บ้าน วันรุ่งขึ้น เห็ดมัตสึทาเกะเหล่านี้ก็จะถูกขนส่งไปยังมณฑลกว่างตง ด้วยวิธีดังกล่าว บริษัทต๋าหวาฉี่ว์เจิงได้นำพาครอบครัวชาวทิเบตอย่างเช่นครอบครัวซังจูจำนวน 186 ครัวเรือนสร้างความมั่งคั่งขึ้น เฉลี่ยแล้วแต่ละครอบครัวมีรายได้เพิ่มประมาณ 20,000 หยวนต่อปี ปีหลัง ๆ มานี้ มณฑลกว่างตงประเดิมความช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมการบริโภคในเขตทิเบต โดยช่วยเหลือเมืองหลินจือเขตทิเบตจัดส่งผลิตผลการเกษตรไปยังเขตเศรษฐกิจอ่าวมณฑลกว่างตง-เขตฮ่องกง- เขตมาเก๊า เพื่อช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่บรรดาชาวปศุสัตว์และชาวนาในทิเบต

 

นอกจากมณฑลและเมืองต่าง ๆ ของจีนพากันจับคู่ช่วยเหลือเขตทิเบต ทางการทหารของจีนก็ได้มีส่วนร่วมในการจับคู่ช่วยเหลือเขตทิเบตด้วย โดยเฉพาะความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข โดยมีโรงพยาบาลทหารหลายแห่งจับคู่กับโรงพยาบาลระดับอำเภอของเขตทิเบต โรงพยาบาลทหารเหล่านี้จะจัดส่งทีมแพทย์ไปประจำอยู่ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ของทิเบตเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง นอกจากให้การรักษาพยาบาลแล้ว แพทย์ทหารเหล่านี้ยังได้นำมาซึ่งเทคนิคก้าวหน้า และแนวคิดการบริหารที่ทันสมัยมายังเขตทิเบตด้วย อีกทั้งช่วยลดช่องว่างด้านการรักษาพยาบาลระหว่างเขตทิเบตกับพื้นที่อื่น ๆ ของจีน

โรงพยาบาล 904 เป็นโรงพยาบาลทหารประจำเมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซู เมื่อเร็ว ๆ นี้ โรงพยาบาลแห่งนี้ได้จัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแผนกต่าง ๆ หลายท่านร่วมกันให้การรักษาต่อนางจัว ก่า ผู้ป่วยวัย 66 ปีจากเขตทิเบตผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล เนื่องจากอาการของจัว ก่า พบได้น้อยมาก แพทย์ทิเบตได้ประสบความยากลำบากในการรักษา พวกเขาจึงนึกถึงแพทย์ทหารที่ได้เคยมาประจำอยู่ในเขตทิเบต และโทรไปขอคำปรึกษา หลังจากแพทย์ทหารได้วิเคราะห์อาการของจัวก่าอย่างละเอียดและรอบด้าน ในที่สุด ได้ออกแผนการรักษาที่ได้ผลให้แก่จัวก่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีการรักษาพยาบาลทางไกลช่วยให้ชาวทิเบตได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาและการบริการที่มีคุณภาพเท่ากับชาวเมืองอื่น ๆ ของจีน

ศูนย์แพทยศาสตร์ของกองทัพอากาศจีนได้จับคู่ไปช่วยเหลือโรงพยาบาลประชาชนอำเภอจั่วก้ง เมืองชังตู เขตทิเบต โดยช่วยก่อตั้งแผนกปฐมพยาบาลของโรงพยาบาลขึ้น ซึ่งได้เสร็จสิ้นประวัติศาสตร์ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่มีแผนกปฐมพยาบาล นอกจากนี้ ศูนย์แพทยศาสตร์ของกองทัพอากาศยังจัดการอบรมต่อแพทย์ทิเบตแบบการจับคู่กันผ่านระบบการศึกษาทางไกล และเชิญแพทย์ทิเบตไปศึกษาเพิ่มเติมในศูนย์แพทยศาสตร์ของกองทัพอากาศด้วย ปัจจุบันมีแพทย์จำนวนกว่า 40 คนจากโรงพยาบาลประชาชนอำเภอจั่วก้งได้รับการอบรมจากศูนย์แพทยศาสตร์ของกองทัพอากาศมาแล้ว ซึ่งได้แสดงบทบาทสำคัญในแผนกจักษุวิทยา โรคผิวหนัง และกุมารเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลประชาชนอำเภอจั่วก้ง

เขตทิเบตถูกขนานนามว่า “หลังคาโลก” เนื่องจากตั้งอยู่บนที่ราบสูงที่มีอากาศบางและรังสีอัลตราไวโอเลตแรง ชาวทิเบตมักจะมีโรคจักษุ โดยมีคนเป็นต้อกระจกจำนวนมาก ตั้งแต่ ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา มูลนิธิเพื่อช่วยเหลือการพัฒนาของเขตทิเบตได้จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยให้การบริการฟรีในการกําจัดต้อกระจกและการผ่าตัดฝังเลนส์ตาเทียมให้แก่ชาวทิเบตจากเขตยากจนและห่างไกล ในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยชาวทิเบตที่มีอาการต้อกระจกจำนวนกว่า 30,000 คนได้รับการบริการฟรีในการกำจัดต้อกระจกมาแล้ว

ด้านการศึกษา มาตรการจับคู่ช่วยเหลือทิเบตได้อบรมบุคลากรจำนวนมากให้แก่เขตทิเบต ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีมณฑลและเมืองจำนวน 17 แห่งจากทั่วประเทศได้จัดส่งครูอาจารย์จำนวนกว่า 2,000 คนไปช่วยเหลือโรงเรียนระดับประถมและมัธยมจำนวน 21 แห่งในทิเบตตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนจำนวน 122 แห่งในเขตทิเบตได้จับคู่กับโรงเรียนพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างครูและนักเรียนของกันและกัน ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยการคมนาคมนครเซี่ยงไฮ้ได้จับคู่กับสถาบันการเกษตรและปศุสัตว์ทิเบต ดำเนินความร่วมมือด้านการอบรมบุคลากร การบริหารห้องปฏิบัติการ และการสืบค้นข้อมูลข่าวสาร ทั้งสองฝ่ายยังประเดิมโครงการ “การคมนาคม+” เพื่อขจัดความยากจน โดยมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาการออกเดินทางของพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตทิเบต

ภาคปฏิบัติเป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่า มาตรการการจับคู่ช่วยเหลือเขตทิเบตซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการจัดให้พื้นที่มั่งคั่งขึ้นก่อนไปช่วยเหลือพื้นที่ล้าหลังเพื่อบรรลุความมั่งคั่งร่วมกันนั้น เป็นความเหนือกว่าของระบอบสังคมนิยมของจีน