จีนส่งดาวเทียมสื่อสารดวงใหม่

(People's Daily Online)วันศุกร์ 13 มกราคม 2023


ดาวเทียมแอปสตาร์-6อี ภายในห้องทดสอบที่สถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีนที่กรุงปักกิ่ง (ภาพจาก China Daily)

เวลา 02.10 น. วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ.2566 ที่ศูนย์ส่งดาวเทียมซีชาง มณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีการยิงส่งดาวเทียมแอปสตาร์-6อี(APSTAR 6E) เทียมสื่อสารดวงแรกที่ใช้แพลตฟอร์ม DFH-3E ขึ้นสู่อวกาศ ด้วยจรวดขนส่งลองมาร์ช-2ซี และในไม่ช้าดาวเทียมดวงนี้ก็เข้าสู่วงโคจรสัมพันธ์กับโลกที่กำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อย

บริษัทของรัฐซึ่งเป็นผู้รับเหมายิงส่งระบุว่าดาวเทียมดวงนี้จะใช้ในการให้บริการการสื่อสารความเร็วสูงและบรอดแบนด์แก่ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแบบและสร้างโดยสถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศแห่งชาติจีน (CASC) แอปสตาร์-6อีเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ใช้แพลตฟอร์มดาวเทียม DFH-3E ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพื่อใช้ในวงโคจรสัมพันธ์กับโลก โดยแพลตฟอร์มดาวเทียมเป็นกรอบที่ใช้ในการประกอบดาวเทียมหรือระบบดาวเทียมตามบทบาทและหน้าที่ของดาวเทียมดวงนั้น ประกอบด้วยอุปกรณ์สากลที่จำเป็นสำหรับดาวเทียมทุกดวง เช่น แหล่งพลังงาน อุปกรณ์ขับเคลื่อนและการควบคุมวงโคจร ตลอดจนเครื่องมือที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับดาวเทียมดังกล่าว สิ่งนี้ทำให้สามารถกำหนดค่าได้ง่าย

นายหวัง หมิน (Wang Min) หัวหน้านักออกแบบดาวเทียมกล่าวว่า ดาวเทียมแอปสตาร-6อีมีน้ำหนัก 4.3 ตัน มีช่องสัญญาณ Ku-band จำนวน 25 ช่อง และช่องสัญญาณเกตเวย์ Ka-band จำนวน 3 ช่อง ซึ่งสามารถให้การสื่อสารรวมกันที่ 30 กิกะไบต์ต่อนาที พัฒนาโดย สถาบันเทคโนโลยียานนำส่งของจีน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศแห่งชาติจีน (CASC) จรวดขนส่งลองมาร์ช-2ซียาว 43 เมตร กว้าง 3.35 เมตร โดยมีน้ำหนักรวมขณะยิงส่งมากกว่า 240 ตัน เป็นจรวดรุ่นที่ให้บริการนานที่สุดในตระกูลลองมาร์ชและส่วนใหญ่ใช้ในการส่งดาวเทียมไปยังวงโคจรระดับต่ำของโลกและดวงอาทิตย์

การยิงส่งในวันนี้นับเป็นภารกิจครั้งที่ 66 ของจรวดลองมาร์ช -2ซี และครั้งที่ 460 ของจรวดตระกูลลองมาร์ช และเป็นการยิงจรวดขนส่งครั้งที่ 3 ของจีนในปี 2566