RCEP ช่วยให้เศรษฐกิจโลกพ้นความยากลำบาก

(People's Daily Online)วันศุกร์ 03 กุมภาพันธ์ 2023

ตามรายงานของอีโคโนมิก เดลี่ ( Economic Daily) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership,RCEP) ที่ครอบคลุมและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี2022 ได้ช่วยให้เศรษฐกิจโลกเอาชนะความยากลำบาก จากการที่ทุกฝ่ายได้แบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเต็มที่ RCEP ได้กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างเศรษฐกิจเอเชีย เพิ่มความเชื่อมั่นในการค้าและการลงทุนระดับภูมิภาค และเสริมสร้างความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย ในโอกาสครบหนึ่งปี RCEP ได้เติมพลังใหม่ให้กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก


ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม
ปี2022 (ภาพจากซินหัว)

ช่วยให้พันธมิตรมีส่วนร่วมในการเปิดประเทศของจีน

การมีผลบังคับใช้ของ RCEP ทำให้พันธมิตรสามารถแบ่งปันโอกาสและผลประโยชน์จากการพัฒนาการการเปิดประเทศของจีนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน2022 ปริมาณการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดระหว่างจีนและกับประเทศสมาชิก RCEP อื่นๆ มีมูลค่าถึง 11.8 ล้านล้านหยวน (1.75 ล้านล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคิดเป็นร้อยละ 30.7 ของยอดการค้าต่างประเทศทั้งหมดของจีน กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าการส่งออกของจีนไปยังประเทศสมาชิก RCEP อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของการส่งออกโดยรวมของจีนร้อยละ 5.8

กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ RCEP ยังกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในระดับภูมิภาคอีกด้วย โดยตามข้อตกลงสินค้ากว่าร้อยละ 90 ของการค้าสินค้าภายในภูมิภาคจะปลอดภาษีในที่สุด หากส่วนที่เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ระหว่างการประมวลผลเป็นของประเทศสมาชิก 15 ประเทศ และมูลค่าเพิ่มสะสมเกินร้อยละ 40 ผลิตภัณฑ์นั้นจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีที่เกี่ยวข้องตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า นโยบาย เหล่านี้กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในภูมิภาคโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างความมั่นใจให้กับองค์กรต่างๆ ในภูมิภาคในการดำเนินความร่วมมือข้ามชาติ

ความสัมพันธ์การค้าเสรีระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

RCEP ได้เปิดความสัมพันธ์การค้าเสรีระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก  จากการเปิดเผยของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ปี2022 เกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีการลงทุนในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 122.1 และ 26.6 ตามลำดับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้ดำเนินความร่วมมือในการผลิตเครื่องจักร รถยนต์ และอุปกรณ์ออปโตอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กรอบ RCEP สิ่งเหล่านี้นับเป็นรากฐานสำหรับความร่วมมือไตรภาคีในห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคในการผลิตระดับไฮเอนด์ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่และพลังงานใหม่


วันที่ 28 กรกฎาคม ปี2022 ฟอรัมระดับสูงของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า RCEP ประจำปี2022
เปิดฉากที่เมืองชิงเต่า มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน (ภาพจากซินหัว)

อัดฉีดโมเมนตัมการเติบโตในตลาดเกิดใหม่

นับตั้งแต่ก่อตั้ง RCEP เมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้ว RCEP ได้ผลักดันการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในตลาดเกิดใหม่ การบูรณาการข้อตกลงการค้า 27 ฉบับและข้อตกลงการลงทุน 44 ฉบับซึ่งลงนามและดำเนินการโดย 15 ประเทศสมาชิก ทำให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคลึกซึ้งยิ่งขึ้นและกลายเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด

สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งที่มาของเสถียรภาพและความมั่นคงของเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคและทั่วโลกในช่วงเวลาที่การค้าโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยความเสี่ยง ในปีแรกที่ความตกลงฯนี้มีผลบังคับใช้ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างของเขตการค้าเสรี ส่งเสริมการค้าในภูมิภาคและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค นายปีเตอร์ ไดรสเดล หัวหน้าสำนักวิจัยเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค มีศักยภาพในการทำหน้าที่เป็นเวทีในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางการค้าของเอเชียกับทั่วโลก