ธุรกิจต้นกล้าสดใหม่แตกหน่อจากแนวคิดที่สมบูรณ์

(People's Daily Online)วันพุธ 22 มีนาคม 2023


จาง ชาชากำลังตรวจดูแปลงทดลองปลูกผักหลากชนิด (ภาพโดยเฉิน จื้อกัง/ไชน่าเดลี่)

“เกษตรกรใหม่” บอกลางานในเมือง มุ่งการทำงานกับธรรมชาติ

จาง ชาชา อายุ 33 ปี บอกลางานดีไซน์ในเมืองเพื่อไปทำการเกษตรในหมู่บ้าน เธอได้เปลี่ยนแปลงอย่างน่าพอใจ หลังจากเลือกงานเกษตรกรในเขตซูหนิง เมืองชางโจว มณฑลเหอเป่ย     คนหนุ่มสาวที่มีความคิดและทักษะใหม่ ๆ เลือกที่จะกลับบ้านเกิดเพื่อทำการเกษตรได้รับการขนานนามว่า “เกษตรกรใหม่” 

จางเลือกที่จะย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านของแฟนในซีซินจวง หลังจากที่เธอได้ไปเยือนที่นั่นและได้ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งการทำฟาร์มไว้ในใจ เธอตัดสินใจลาออกจากงานที่มั่นคงและรายได้ดีในเมืองหลางฝาง ที่ซึ่งเธอทำงานตั้งแต่จบจากมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2556     จางกล่าวว่า “ฉันเห็นเรือนกระจก เต็มไปด้วยต้นกล้าผักสีเขียวเล็ก ๆ ซึ่งมีกลิ่นที่สดชื่นและธรรมชาติมาก นอกจากนี้นโยบายของรัฐก็สนับสนุนการพัฒนาทางการเกษตรมากขึ้น ฉันจึงคิดว่านี่เป็นอาชีพที่มีแนวโน้มดีและน่าสนใจ” 

จางลาออกจากงานในปี พ.ศ. 2558 และเริ่มเพาะปลูกต้นกล้าของผักต่าง ๆ ที่สหกรณ์อาชีพสวนผักสีเขียวในเขตซูหนิง    เธอแต่งงานกับแฟนและทั้งสองได้ตัดสินใจทำงานเกษตรกรด้วยกัน 

ด้วยพ่อแม่ของสามีเธอได้ปลูกต้นกล้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จางจึงได้เรียนรู้การปลูกผักและบำรุงต้นกล้าตั้งแต่เริ่มต้น    หลังจากสองปีแห่งการเรียนรู้และปฏิบัติ จางมีความชำนาญในทักษะที่จำเป็น และเริ่มบริหารสหกรณ์ร่วมกับสามี 

จางกล่าวว่า “ต้นกล้าเหล่านี้เหมือนกับลูก ๆ ของฉัน มันไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากฉัน และฉันก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีพวกเขา แม้เพียงวันเดียวก็ตาม” เธอคุ้นเคยกับการทำงานและใช้ชีวิตท่ามกลางต้นกล้า

เธอค้นพบว่าปริมาณไม่ใช่ประเด็น แต่สิ่งสำคัญคือ ลูกค้าต้องการต้นกล้าที่มีคุณภาพดีและมีความหลากหลายมากกว่า “ฉันคิดว่าน่าจะมีศักยภาพมากกว่าในการปลูกพันธุ์ใหม่ ๆ เนื่องจากความต้องการต้นกล้าที่ดีมีเพิ่มมากขึ้น”

จางได้เปิดเรือนกระจกมาตรฐานระดับสูงหลายแห่งและเปิดตัวเครื่องเพาะกล้าอัตโนมัติและเครื่องหยอดเมล็ดที่แม่นยำ     เรือนกระจกมีต้นกล้าจำนวนราว 30 ล้านต้น และปลูกพืชผักถึง 12 ชนิด 50 สายพันธุ์ รวมทั้ง มะเขือเทศ แตงกวา คี่นช่ายและกะหล่ำปลี 

ในขณะเดียวกันจางก็ได้นำ 20 สายพันธุ์ใหม่จากต่างประเทศและในประเทศซึ่งให้ผลผลิตที่ดีกว่ามาเพาะปลูก     “เราปรับต้นกล้าให้เข้ากับดิน น้ำและอากาศท้องถิ่นโดยผ่านการเพาะพันธุ์ เพื่อที่พืชจะมีความทนทานและสร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้เกษตรกร” จางกล่าว และเสริมว่า “กระบวนการปรับตัวของพืชจะใช้เวลาประมาณสามถึงสี่ปี” 


จาง ชาชา(ซ้าย) และเพื่อนร่วมงานกำลังเตรียมถาดเพาะต้นกล้า ณ เมืองชางโจว มณฑลเหอเป่ย
(ภาพโดยเฉิน จื้อกัง/ไชน่าเดลี่)

เธอยังได้ยื่นจดสิทธิบัตรจำนวน 9 ใบในการดูแลต้นกล้า

ด้วยความชำนาญที่มากขึ้นของเธอ ลูกค้าจากทุกหนแห่งในประเทศได้รับคำแนะนำให้เลือกต้นกล้าจากเธอ     “ลูกค้าส่วนใหญ่ของฉันจะแนะนำลูกค้าใหม่ให้เมื่อพวกเขาได้นำต้นกล้าของฉันไปปลูกและได้ผลผลิตดี” จางกล่าว

ความสำเร็จของจางในการเป็น เกษตรกร “ใหม่” มีส่วนช่วย เกษตรกร “เก่า” อย่างมาก

สหกรณ์ของเธอทำงานร่วมกับเกษตรกรจำนวน 600 ราย บางคนนำพื้นที่ของตนให้สหกรณ์เช่าและทำงานเป็นพนักงานรับจ้าง ขณะที่บางคนเช่าพื้นที่ของเรือนกระจกเพื่อปลูกผักของตน     หวาง เจี้ยนชวน พนักงานคนหนึ่งกล่าวว่า “รู้สึกสนุกที่ได้ทำงานที่มั่นคงกับจาง ฉันได้งานทำที่มีรายได้ดีที่แถวบ้าน รายได้ 4,000 หยวน (20,000 บาท) ต่อเดือน”

เกษตรกรคนอื่น ๆ ที่ต้องการปลูกผักของตนจะได้รับส่วนลด หากพวกเขาซื้อต้นกล้าจากสหกรณ์ และจะได้รับคำแนะนำทางเทคนิค     “ด้วยวิธีนี้ต้นทุนของพวกเขาจะลดลง ขณะที่ผลกำไรสูงขึ้น ฉันหวังจะได้ร่วมงานกับเกษตรกรมากขึ้นเพื่อขยายธุรกิจต้นกล้า” จางกล่าว