เสาะหาความสามัคคีเพื่อสร้างผู้กำหนดทิศทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ประเทศในภูมิภาคควรมีส่วนร่วมในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
การอภิปรายในหัวข้อความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก: โอกาสใหม่และความท้าทาย จัดขึ้นระหว่าง
การประชุมประจำปีฟอรั่มเอเชียโป๋อ๋าว (BFA) ที่เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน ทางตอนใต้ของจีน เมื่อ
วันที่ 29 มีนาคม 2566 (ซินหัว)
ประเทศในเอเชียควรยกระดับความร่วมมือให้มากขึ้นเพื่อให้ภูมิภาคนี้เป็นผู้กำหนดทิศทางสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศและมีส่วนร่วมในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ผู้บรรยายกล่าวถึงความจำเป็นในการรวมตัวกันในการอภิปรายภายใต้หัวข้อความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก: โอกาสใหม่และความท้าทาย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ระหว่างการประชุมประจำปีฟอรั่มเอเชียโป๋อ๋าว ในมณฑลไห่หนาน
ยาซุโอะ ฟุกุดะ ประธานสภาที่ปรึกษาของ BFA และอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวถึงหัวข้อฟอรัมว่า “โลกที่ไม่แน่นอน: ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาท่ามกลางความท้าทาย” โดยกล่าวถึงหัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่ตรงกับสถานการณ์ซึ่งสะท้อนถึงภูมิทัศน์ของโลกในปัจจุบัน
“เป็นช่วงเวลาสำคัญในการหารือเกี่ยวกับปัญหานี้” ฟุกุดะกล่าว “คงไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นเพียงคำถามสำหรับ BFA เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโลกด้วย”
“สำหรับคนในเอเชีย เราผ่านสงครามเย็นและร้อนมาหลายรูปแบบ และความยากลำบากที่แตกต่างกัน ดังนั้น สันติภาพจึงเป็นสิ่งที่มีค่าและการพัฒนาก็เป็นชัยชนะอันยากยิ่ง” เจิง เผยเหยียน รองประธานสภาที่ปรึกษาของ BFA และอดีตรองนายกรัฐมนตรีจีน กล่าว
เจิงกล่าวว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตมากที่สุดในโลกซึ่งคิดเป็น 40% ของเศรษฐกิจโลก ประเทศในภูมิภาคควรร่วมกันสร้างเอเชียที่มีความปลอดภัยและสันติ มั่งคั่งและเปิดกว้าง และเป็นหนึ่งเดียวที่มีความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้เป็นผู้กำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศ
“ต้องมีการเน้นย้ำว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ควรเป็นภูมิภาคสำหรับการแข่งขันของมหาอำนาจ นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำเป็นต้อง เน้นความสามัคคีและความร่วมมือ” เก้า กึม ฮอน เลขาธิการอาเซียนกล่าว
คาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศความตกลงการค้าเสรี RCEP จะกลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกภายในปี 2573 และกลุ่มจะขยายการลงทุนเพิ่มเติมในภาคส่วนใหม่ เช่น เศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการดำเนินงานของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ทั้งนี้ สมาชิก 10 ประเทศในกลุ่มได้ตกลงโดยหลักการที่จะยอมรับประเทศติมอร์-เลสเตเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ในเดือนพฤศจิกายน
RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วย 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่ค้า 5 ประเทศ รวมถึงจีน คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของการค้าและการลงทุนทั่วโลก
“อาเซียนจำเป็นต้องระมัดระวังต่อความท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากความไม่แน่นอนทั่วโลกและอื่น ๆ” โสก โสภาค เลขาธิการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชากล่าว
เมื่อมองเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของการค้าในภูมิภาคเนื่องจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ โสกกล่าวว่า ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องร่วมกันเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ
จาง ยี่ว์เหยียน ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐศาสตร์และการเมืองโลกของสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences) กล่าวว่า RCEP ส่งผลให้การค้าการแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างผู้ลงนามเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
การค้าของจีนกับสมาชิก RCEP อีก 14 ประเทศขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นประมาณ 12.95 ล้านล้านหยวน (1.88 ล้านล้านดอลลาร์) ในปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 30.8 ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมดของประเทศ ตามข้อมูลจากสำนักบริหารทั่วไป กรมศุลกากรจีน
จาง เจี้ยนฉิว CEO ของบริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมอี้ลี่ มองโกเลียในกล่าวว่า ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดสนใจหลักของกลยุทธ์โลกาภิวัตน์ของบริษัทตั้งแต่ปี 2561 โดยมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายทั่วภูมิภาคหลังจากตั้งฐานการผลิตสองแห่งในประเทศไทยและอินโดนีเซีย .
“บทบาทของการเงินสีเขียวและการประกันภัยในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยคาร์บอนต่ำยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาอีกมาก” เซิ่ง เหอไท่ รองประธานและกรรมการผู้อำนวยการบริษัทรับประกันการส่งออกแห่งประเทศจีนกล่าว