“เมืองแห่งอนาคต” ที่เขตใหม่สงอันกำลังเป็นรูปเป็นร่าง

(People's Daily Online)วันอังคาร 04 เมษายน 2023


ภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่หรงซี 31 มี.ค. 2566 (ด้านบน) และภาพการก่อสร้างเมื่อ 3 ก.ค. 2564
ในเขตใหม่สงอัน มณฑลเหอเป่ย ทางตอนเหนือของจีน (ซินหัว/มู่ อวี่)

“เมืองแห่งอนาคต” ที่เขตใหม่สงอัน (Xiong'an) เมืองที่ทุกคนรอคอยกำลังจะเสร็จสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นพยานให้เห็นถึงจุดสูงสุดของความพยายามอย่างเต็มที่ในการทำให้วิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ที่สร้างขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560 จีนประกาศแผนการจัดตั้งพื้นที่ใหม่ในมณฑลเหอเป่ย เพื่อโอนย้ายหน่วยงานที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรุงปักกิ่งและส่งเสริมการพัฒนาที่ประสานกันของกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย

สำหรับเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้นจะ “มีความสำคัญยาวนานในสหัสวรรษที่จะมาถึง” หน่วยงานกลางของจีนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวางแผน โดยกล่าวว่า “ที่ดินทุกตารางนิ้วควรได้รับการวางแผนอย่างชัดเจนก่อนการก่อสร้าง”

มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,500 ราย และกว่า 2,000 ทีม จากจีนและต่างชาติมาร่วมร่างพิมพ์เขียวของเมืองใหม่นี้ ตอนนี้พิมพ์เขียวนั้นกำลังจะกลายเป็นความจริง

ด้วยการเปิดให้บริการของรถไฟระหว่างเมืองช่วยลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟทางตะวันตกของกรุงปักกิ่งถึงเมืองสงอันจากเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง เหลือประมาณ 50 นาที รวมทั้งโครงการหลักในการร่วมพัฒนากรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย อีกโครงการคือ รถไฟความเร็วสูงระหว่างเมืองซึ่งใช้เวลาเพียง 19 นาที จากสนามบินต้าซิงในกรุงปักกิ่งถึงสงอัน

ภายในอุโมงค์ใต้ดินความยาว 47.6 กิโลเมตร มีการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกโครงสร้างพื้นฐานสำหรับไฟฟ้า การสื่อสาร ระบบทำความร้อน ระบบก๊าซและน้ำประปา ทั้งนี้ มีการติดตั้งเซ็นเซอร์เกือบ 10,000 ชุด เพื่อรองรับการเฝ้าระวังด้วยวิดีโอและการตรวจสอบอุปกรณ์อย่างเต็มรูปแบบ

รัฐวิสาหกิจที่บริหารงานจากส่วนกลางของจีน (state-owned enterprises หรือ SOEs) ได้จัดตั้งบริษัทสาขาในพื้นที่มากกว่า 140 แห่ง ขณะนี้มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ของ SOEs ขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น บริษัท Sinochem Holdings

บริษัท China Satellite Network Group และบริษัท China Huaneng Group และเพื่อให้บริการทางสาธารณสุขที่มีคุณภาพ จะมีการสร้างมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลและโรงเรียนสาขาของปักกิ่งในเมืองสงอัน ซึ่งจะเป็นการสร้างพันธมิตรและสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าด้วย

ในช่วงปลายปี 2565 ศูนย์คอมพิวเตอร์ของเมืองสงอันหรือ ที่เรียกว่าสมองของเมืองได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยให้บริการเครือข่าย คอมพิวเตอร์ และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำหรับข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ้กดาต้า) บล็อกเชน และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things)

ผู้นำของจีนให้คำมั่นที่จะสร้างเมืองสงอันให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรม สีเขียว อัจฉริยะและระดับโลกที่มีท้องฟ้าสีคราม อากาศบริสุทธิ์และน้ำสะอาด สอดคล้องกับเส้นทางการพัฒนาคุณภาพสูงของประเทศ

ทะเลสาบไป๋หยางเตี้ยน ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของจีนตั้งอยู่ในสงอัน หลังจากเริ่มสร้างเขตใหม่นี้ คุณภาพของน้ำในทะเลสาบได้รับการปรับปรุงจากระดับ 5 ซึ่งเป็นระบบการประเมินน้ำในขั้นที่ต่ำสุดของจีนมาเป็นระดับ 3    พันธุ์นกต่าง ๆ มากมายในทะเลสาบนี้ต่างเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต

มีการปลูกป่ากว่า 31,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 49.6 ไร่) โดยมีต้นไม้ที่ปลูกในเรือนเพาะชำกว่า 23 ล้านต้นในพื้นที่ เพิ่มอัตราพื้นที่ป่าเป็นร้อยละ 34 และลดระดับเฉลี่ยของ PM 2.5 ลงร้อยละ 37

ตามโครงร่างผังเมือง พลเมืองในสงอันจะเดินทางไม่เกิน 300 เมตร จากบ้านเพื่อไปยังสวนสาธารณะ หรือ แนวต้นไม้ภายใน 1 กม. และถึงป่าภายใน 3 กม.

หลี่ เสี่ยวเจียง ผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการประสานงานการร่วมพัฒนากรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ยกล่าวว่า มีการสำรวจด้วยวิธีการต่าง ๆ ในเขตใหม่สงอันเพื่อตอบสนองความปรารถนาของคนทั่วไปที่ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาเมืองในอนาคตของจีนด้วย    สุดท้ายแต่ไม่ใช่ท้ายสุดคือ การดึงดูดกลุ่มทาเลนต์เข้ามาในพื้นที่ก่อสร้างสงอันแป็นสิ่งสำคัญ

จู หนิงหัว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวตกรรมสงอันภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนได้รับบัตร “ทาเลนต์สงอัน” ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการลงทะเบียนบ้าน การจราจร การสาธารณสุขและการศึกษาของเด็ก ๆ    มีทาเลนต์ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วนรวมทั้งสิ้นจำนวน 3,774 คนได้รับบัตรทาเลนต์ดังกล่าวเช่นกัน

ถัง ผู่เลี่ยง หัวหน้าทีมทำงานเพื่อค้นหาทาเลนต์ในสงอันกล่าวว่า เมืองได้เชิญผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ 12 ราย ทาเลนต์ในสาขาหลัก ๆ กว่า 100 ราย และบัณฑิตกว่า 3,000 คน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน