คำแนะนำทางการแพทย์ช่วยให้ชีวิตคนไข้ง่ายขึ้น

(People's Daily Online)วันศุกร์ 07 เมษายน 2023

ช่วยบริการการนัดหมายแพทย์ การรับยาและผลการรักษา

เกือบทุกวัน หลี่ ไท่หนิงไปโรงพยาบาลที่เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิงเพื่อพาคนไข้ไปพบแพทย์หรือไม่ก็ไปรับยาให้พวกเขา   ด้วยวัย 41 ปี หลี่มีอาชีพเป็นผู้ติดตามในโรงพยาบาล หรือเรียกว่าไกด์ทางการแพทย์ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในจีน

“ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้คนหันมาเป็นผู้ให้คำแนะนำในโรงพยาบาลมากขึ้น เราให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และช่วยผู้ป่วยในการจัดการเรื่องต่าง ๆ เช่น การเข้ารับการรักษา ผลการทดสอบและยา” หลี่กล่าว “เมื่อเรารู้จักโรงพยาบาลและกระบวนการรักษาเป็นอย่างดี เราสามารถช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดเวลา”

ความต้องการผู้ติดตามในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับประชากรสูงอายุของจีนและความต้องการการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น

ข้อมูลจาก Qichacha บริษัทที่ติดตามการจดทะเบียนธุรกิจแสดงให้เห็นว่า ณ วันที่ 25 มีนาคม จีนมีบริษัทจำนวน 827 แห่งที่ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์มีคำว่า เผยเจิ่น (peizhen) อยู่ด้วย ซึ่งแปลว่า “ผู้ติดตามในโรงพยาบาล” ในบรรดาบริษัทเหล่านี้ มีบริษัท 369 แห่งที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นภายในปีที่ผ่านมา รวมถึง 133 แห่งที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา

หลี่ ซึ่งเคยทำงานเป็นพนักงานขายประกัน ได้เห็นการทำงานของผู้ติดตามในโรงพยาบาลขณะชมรายการโทรทัศน์เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว   “ผมคิดว่าผมทำงานนี้ได้ เพราะคุ้นเคยกับระบบการแพทย์และเข้าใจคนไข้อย่างดี” เขากล่าว

เริ่มแรก หลี่ช่วยคนไข้รับยา เนื่องจากคนไข้หลายคนไม่สามารถมารับยาด้วยตนเองได้เพราะมีมาตรการควบคุมและป้องกันโควิด-19   “ในช่วงที่ยุ่งที่สุดสองเดือนแรกก่อนเทศกาลตรุษจีน ผมได้รับคำสั่งจากลูกค้าประมาณ 10 รายในการรับยา และติดตามคนไข้ที่ต้องการการรักษาอย่างฉุกเฉิน หรือคนไข้ที่ป่วยมากมายังโรงพยาบาล” หลี่กล่าว

เขากลายเป็นผู้ติดตามในโรงพยาบาลอย่างเต็มตัวในปีนี้ และเพิ่งลงทะเบียนบริษัทของตนเอง   “ทัศนคติต่อการบริโภคกำลังเปลี่ยนแปลง คนจำนวนมากเต็มใจที่จะจ่ายบริการทางการแพทย์นี้ และค่าบริการก็ไม่แพง” เขากล่าว

โดยเฉลี่ย เขาคิดค่าบริการ 199 หยวนต่อครั้ง และ 299 หยวนสำหรับงานเต็มวัน เขามีรายได้ประมาณ 10,000 หยวน  ต่อเดือนและได้รับทิปจากลูกค้าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนทั้งหมดของลูกค้าเขา

ร้อยละ 30 ของลูกค้าคือ ผู้สูงอายุวัย 60 ปี หรือมากกว่านั้น ร้อยละ 20 คือ มารดาอายุน้อยที่มีลูกป่วย และ ร้อยละ 20 คือคนหนุ่มสาวที่ทำงานและอยู่คนเดียวในต้าเหลียน

เมื่อหลี่ทำธุระให้พวกเขา มารดาอายุน้อยสามารถมีสมาธิกับลูก ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องหาทางไปแต่ละที่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่

“คำขอความช่วยเหลือจำนวนมากที่ผมได้รับมาจากผู้ป่วยที่เคยสัมผัสมาก่อน” เขากล่าวและเสริมว่าบางคนที่มีโรคเรื้อรังต้องการให้เขานำยามาให้เป็นประจำ

หลี่ชอบแบ่งปันผลงานของเขาบนช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น แพลตฟอร์มแบ่งปันวิดีโอโต่วอิน (Douyin) ซึ่งช่วยให้เขาดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น

ตอนนี้เขาทำงานร่วมกับผู้ติดตามในโรงพยาบาลที่ทำงานพาร์ทไทม์จำนวน 4 คน

หลังจากเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลร่วมกับผู้ป่วยอยู่บ่อยครั้งเป็นเวลาหนึ่งปี หลี่กล่าวว่า นอกจากจะมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับธุรกิจของเขาแล้ว ตอนนี้เขายังให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเองมากขึ้นด้วย   “การไปโรงพยาบาลอาจเป็นเรื่องน่ากังวล แต่เป็นเรื่องดีหากเราดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว” เขากล่าว


ภาพจากCFP

ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

จ้าว หมิง วัย 36 ปี เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความวิตกกังวลที่มาพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวที่ไปโรงพยาบาล   ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เขาเดินทางจากเมืองเหิงสุ่ย มณฑลเหอเป่ยไปยังปักกิ่งหลายครั้งเพื่อให้แม่ของเขาเข้ารับการรักษาหลังจากที่เธอได้รับบาดเจ็บที่ขาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

“คนที่คุ้นเคยกับโรงพยาบาลและขั้นตอนการรักษาสามารถช่วยเหลือผู้คนอย่างพวกเราที่อาศัยอยู่นอกเมืองหลวงได้อย่างดี” จ้าวกล่าว

ครั้งแรกที่เขาและแม่ไปโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง พวกเขาลงจากรถแท็กซี่ผิดประตูและต้องเดินท่ามกลางลมแรง 20 นาทีก่อนจะถึงทางเข้าที่ถูกต้อง   “ฉันวางแผนการไปโรงพยาบาลอย่างรอบคอบ แต่เกิดเหตุไม่คาดฝันหลายครั้ง” จ้าวกล่าว

หลังจากที่แม่ของเขาไปพบแพทย์ เธอต้องทำซีที แสกน เอกซเรย์และตรวจเลือด ทั้งคู่ต้องเข้าแถวเพื่อรับการตรวจแต่ละครั้ง และความล่าช้าอาจส่งผลให้การทดสอบถูกเลื่อนออกไป

จ้าว หมิงได้รับหมายเลขสำหรับการทำซีที แสกนของแม่ เมื่อเวลา 08.30 น. ซึ่งเป็นสี่ลำดับสุดท้ายในรายการรอของวันนั้น   “ถ้าผมไปที่นั่นหลังจากตรวจอีกสองรายการ เราจะต้องกลับมาทำสแกนอีกในวันรุ่งขึ้น” เขากล่าว

เขาเห็นชายคนหนึ่งหมดสติหลังจากมาถึงสถานที่ผิดที่ในโรงพยาบาล ซึ่งทำให้การนัดหมายของแพทย์ถูกยกเลิก

เมื่อจ้าว หมิงพูดกับเพื่อนในบ้านเกิดของเขาเกี่ยวกับปัญหาในการไปปักกิ่งเพื่อรับการรักษา เพื่อนคนนั้นก็แนะนำให้เขาจ้างผู้ติดตามในโรงพยาบาล   เพื่อนคนนี้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการของโรงพยาบาลในท้องถิ่นกล่าวว่า เขาต้องการเป็นผู้ติดตามผู้ป่วยในโรงพยาบาลในปักกิ่งเพื่อหารายได้เพิ่มเติมเช่นกัน

อาชีพใหม่

ซ่ง เซียนหมิง จากเมืองต้าเหลียนเดินทางมาปักกิ่งเพื่อทำงานเป็นผู้ติดตามในโรงพยาบาล ด้วยวัย 42 ปี เขาเคยเปิดแคมป์นอกโรงเรียนในต้าเหลียนเพื่อสอนทางด้านวิชาการเพิ่มเติมแก่นักเรียน แต่เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนงานโดยมองหาผู้สูงอายุ

ซ่งได้พบผู้ติดตามให้บริการในโรงพยาบาลครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว ตอนที่เขาพาเพื่อนร่วมงานไปพบแพทย์ในกรุงปักกิ่ง   “ด้วยทรัพยากรทางการแพทย์ที่อุดมสมบูรณ์ ปักกิ่งจึงเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศที่มีอาการป่วยที่ซับซ้อน โรงพยาบาลขนาดใหญ่บางแห่งในเมืองให้การรักษาผู้ป่วยนอก 10,000 รายต่อวัน” ซ่งกล่าว   “แม้แต่คนในท้องถิ่นก็อาจไม่คุ้นเคยกับโรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งในเมืองหลวง ขณะที่คนจากเมืองอื่นก็อาจสับสนและทำอะไรไม่ถูก”

เมื่อเขาเห็นถึงโอกาสในการให้บริการเป็นผู้ติดตามในโรงพยาบาล ซ่งจึงจดทะเบียนบริษัทและเช่าสำนักงานในเขตตงเฉิงของปักกิ่ง   เขาคิดว่าส่วนหนึ่งของพื้นฐานที่สำคัญสุดของบริการดังกล่าวคือ “การทำธุระ” การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และช่วยให้ผู้ป่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นนั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของอาชีพนี้

ซ่งและเพื่อนร่วมงานเริ่มทำงานในละแวกใกล้ ๆ กับที่ทำงาน ลูกค้ารายแรกเป็นผู้หญิงวัย 70 ​​ปี ซึ่งมีลูกคนเดียวและอยู่ต่างประเทศ   หลังจากลงนามในสัญญาเพื่อชี้แจงสิทธิและหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย ซ่งช่วยลูกค้ารายแรกให้ได้รับนัดพบแพทย์ ก่อนที่จะพาเธอไปโรงพยาบาล

ตามคำร้องขอของลูกชายของหญิงคนดังกล่าวและได้รับอนุญาตจากแพทย์ ซ่งและลูกชายของลูกค้าซึ่งอยู่ต่างประเทศได้ติดต่อกันทางโปรแกรมวีแชทตลอดกระบวนการ   “เธอและลูกชายพอใจกับงานของเรามาก และได้แนะนำบริการของเราให้กับเพื่อนบ้านด้วย” ซ่งกล่าว

ปัจจุบัน บริษัทของเขามีพนักงาน 6 คนซึ่งดูแลคำร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ป่วยประมาณ 5 คำต่อวัน โดยคิดค่าบริการ 320 หยวนต่อคำร้องที่ใช้เวลาจัดการน้อยกว่า 4 ชั่วโมง และ 550 หยวนสำหรับคำร้องที่ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง   ทีมงานยังมีบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ทางไกลสำหรับผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในเมืองอื่น ๆ

ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปปักกิ่ง เนื่องจากสามารถส่งอีเมล์สำเนาประวัติทางการแพทย์ ผลการทดสอบ และบัตรประกันสุขภาพให้กับซ่ง ซึ่งเป็นคนไปพบแพทย์ รับยา และส่งไปยังผู้ป่วยทางไปรษณีย์

“วิธีนี้สะดวก รวดเร็ว และถูกกว่าการเดินทางไปปักกิ่งมาก” ซ่งกล่าว

ข้อกฎหมายที่จำเป็น

ในฐานะอาชีพใหม่ “ผู้ติดตามในโรงพยาบาล” ยังไม่ได้ถูกระบุไว้ในรหัสการจำแนกประเภทอาชีพล่าสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เผยแพร่โดยกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมเมื่อปีที่แล้ว    อาชีพนี้ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยและการพัฒนาที่ยั่งยืน    ซ่งกล่าวว่า “มีความเสี่ยงหลายอย่าง รวมถึงจะทำอย่างไรหากลูกค้าเก็บข้อมูลบางอย่างไว้ หรือหากเกิดอุบัติเหตุกับผู้ป่วย”

เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวและปรับปรุงบริการของพวกเขา ซ่งและเพื่อนร่วมงานมักจะสวมกล้องวิดีโอขนาดเล็กเพื่อบันทึกกระบวนการทั้งหมดขณะที่พวกเขาพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล    ผู้ติดตามในโรงพยาบาลบางแห่งต้องการให้สมาชิกในครอบครัวติดตามผู้ป่วยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปและสตรีมีครรภ์

หลังจากเห็นความสำเร็จของธุรกิจให้บริการนี้ในโรงพยาบาลจากช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น โต่วอิน และแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ เสี่ยวหงชู (Xiaohongshu) ผู้คนจำนวนมากขึ้นก็พร้อมที่จะลองประกอบอาชีพนี้    วิดีโอสั้นที่ออกอากาศบนแพลตฟอร์มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงตลาดที่กำลังดำเนินไปอย่างเต็มรูปแบบ และแสดงให้เห็นว่าอาชีพดังกล่าวสามารถสร้างรายได้หลายหมื่นหยวนต่อเดือนได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดตามในโรงพยาบาลแทบไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ที่จำเป็นเกี่ยวกับยาและการดูแลสุขภาพ

ไป่ อวี่จิง ผู้แทนสภาประชาชนแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ของบริษัท Liaoyuan Water Group ในมณฑลจี๋หลิน ได้เรียกร้องให้วิชาชีพใหม่มีมาตรฐาน    “คำแนะนำทางการแพทย์แบบตัวต่อตัวแบบนี้ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้รับการรักษาพยาบาลและเพิ่มการจ้างงาน แต่ยังคงมีปัญหาที่ซ่อนอยู่” เธอกล่าว

ก่อนการประชุมสองสภาของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมทางการเมืองประจำปีที่สำคัญของจีน ไป่ได้ไปเยี่ยมโรงพยาบาลและชุมชนที่อยู่อาศัยเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และขอคำแนะนำ

“หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องควรออกมาตรการจัดการคำแนะนำทางการแพทย์อย่างมืออาชีพโดยเร็วที่สุด รวมถึงระบุหน้าที่ บริการ และค่าธรรมเนียม” เธอกล่าว    ไป๋ยังเรียกร้องให้ทางรัฐบาลผู้รับผิดชอบกำหนดเกณฑ์ในการทำอาชีพผู้ติดตามในโรงพยาบาล และช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างผู้ติดตามในโรงพยาบาลและคนไข้

ความพยายามของอาสาสมัคร

ในเดือนมกราคม ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นเกือบร้อยละ 15 ของประชากรจีนแผ่นดินใหญ่

ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการทำงานแห่งชาติด้านอายุ (National Working Commission on Aging) กล่าวว่าในปี 2564 ผู้คนมากกว่า 42 ล้านคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปพบว่าการทำงานประจำวันเป็นเรื่องยาก

เจีย หนาน ผู้อำนวยการของ Aiyuanhui องค์กรบริการสังคมสงเคราะห์มืออาชีพที่ไม่แสวงหาผลกำไรในต้าเหลียนกล่าวว่า “บริการทางการแพทย์อัจฉริยะที่ต้องใช้อุปกรณ์อัจฉริยะอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุบางคนที่จะใช้”

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม เจียและเพื่อนร่วมงานของเธอได้ทำงานอาสาสมัครที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์ต้าเหลียนแห่งที่หนึ่ง (First Affiliated Hospital of Dalian Medical University) โดยช่วยให้ผู้ป่วยนอกคุ้นเคยกับขั้นตอนการรักษาและใช้เครื่องให้บริการตนเองอัตโนมัติ รวมถึงงานอื่น ๆ

“ฉันเห็นความจำเป็นในการขอคำแนะนำทางการแพทย์ และเราจะก้าวไปอีกขั้น” เจียกล่าว

ในชุมชนที่อยู่อาศัยที่จ้างนักสังคมสงเคราะห์ เจียวางแผนที่จะจัดหาผู้ติดตามในโรงพยาบาลฟรีให้กับคนที่ยากจนขั้นรุนแรงด้วยเบี้ยยังชีพ

โรงพยาบาลหลายแห่งให้บริการอาสาสมัครสำหรับผู้ป่วย

ในเดือนสิงหาคม ทีมอาสาสมัครของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยการแพทย์ต้าเหลียนแห่งที่สอง (Second Affiliated Hospital of Dalian Medical University) ได้ร่วมกับศูนย์ให้บริการสาธารณะต้าอ้าย เซียวชันแห่งต้าเหลียน (Dalian Xiaoshan Da'ai Public Service Center) และสมาคมต่อต้านมะเร็งซิงไห่แห่งต้าเหลียน (Dalian Xinghai Anti-Cancer Association) ในการจัดตั้งแผนกบริการอาสาสมัครเพื่อให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัวและช่วยเหลือผู้สูงอายุ 

อาสาสมัครพาผู้ป่วยไปยังแผนกต่าง ๆ ของโรงพยาบาล และช่วยให้พวกเขาใช้เครื่องบริการตนเอง วีลแชร์ และบริการอื่น ๆ

หยาง ซื่อเชิง เลขาธิการคณะกรรมการสันนิบาตเยาวชนของโรงพยาบาลกล่าวว่า “อาสาสมัครได้ให้บริการเกือบ 5,000 ชั่วโมง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่า 60,000 ราย รวมถึงผู้สูงอายุกว่า 1,000 รายที่มีความต้องการพิเศษ”

เมื่ออาสาสมัครจากสมาคมต่อต้านมะเร็งซิงไห่ให้คำปรึกษา แนะนำ และบริการอื่น ๆ ที่คลินิกเนื้องอก พวกเขายังให้การสนับสนุนทางอารมณ์แก่ผู้ป่วยด้วย

จี้ หมิงลั่ว หัวหน้าสมาคมกล่าวว่า “ผู้ป่วยจำนวนมากไม่เพียงแต่ต้องการการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังต้องรู้สึกสบายใจด้วย ในขณะที่เราผู้เป็นอาสาสมัครกำลังพักฟื้นจากการผ่าตัดมะเร็ง เราแชร์ความรู้สึกเดียวกันกับผู้ป่วย ดังนั้นเราจึงสามารถให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแก่พวกเขาเมื่อพวกเขาเผชิญแรงกดดันและประสบกับความเจ็บปวด”

(สนับสนุนเนื้อหาโดยหลิว หมิงไท่ เมืองฉางชุน)