จีนและอาเซียนมีเป้าหมายร่วมมือด้านการเกษตรที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
คนงานขนทุเรียนส่งออกไปจีนขึ้นรถบรรทุกที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อเดือน พฤษภาคมพ.ศ. 2564 (ภาพ/ซินหัว)
ที่เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไหหลำ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนจากไทย กล้วยจากฟิลิปปินส์ เสาวรสจากเวียดนาม ลำไยจากกัมพูชา หรือกาแฟจากมาเลเซีย สินค้าเกษตรจากประเทศอาเซียนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆทะลักเข้าสู่จีน เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนด้านการเกษตร
ดร.เก้า คิมฮอน เลขาธิการอาเซียนกล่าวในการประชุมประจำปีของฟอรั่มเอเชียโป๋อ๋าวเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ว่าจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา และการค้าสินค้าเกษตรมีบทบาทสำคัญ จีนกับอาเซียนได้ทำข้อตกลงการค้าสินค้าเกษตร หลายฉบับ เช่น ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ และดำเนินการแลกเปลี่ยนบุคลากรและเทคนิค
ผู้แทนจากจีนและประเทศอาเซียนในเวทีดังกล่าวต่างตระหนักดีว่าทั้งสองฝ่ายได้กระชับความร่วมมือด้านการเกษตรอย่างรอบด้าน จีนและอาเซียนบรรลุผลสำเร็จในด้านการลงทุนและการค้า การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความมั่นคงของอาหาร การพัฒนาการเกษตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน และการประสานงานด้านนโยบายระหว่างรัฐบาลเพื่อชุมชนที่มีอนาคตร่วมกัน
การลงทุนด้านการเกษตรของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 40 ของการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดในภาคส่วนนี้ นายซุย เผิงเฟย อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีน กล่าวว่า ปริมาณการค้าสินค้าเกษตรระหว่างจีนและอาเซียนสูงถึง 61,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 ซึ่งแซงหน้าประเทศและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ขณะที่กรมศุลกากรของจีนเผยว่าสินค้าเกษตรและอาหารเกือบ 1,500 ชนิดจากอาเซียนได้ส่งออกไปยังจีนแล้ว พันธุ์และเทคโนโลยีการเกษตรคุณภาพสูงจากประเทศจีนได้ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศอาเซียนอีกด้วย
ผู้เยี่ยมชมกล้วยจากฟิลิปปินส์ระหว่างงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติของจีน (China International
Import Expo) ครั้งที่ 5 ที่นครเซี่ยงไฮ้ ในเดือนพฤศจิกายน (ภาพ/ไชน่าเดลี่)
นายเซี่ย เจียงฮุย รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์เกษตรเขตร้อนของจีน (Chinese Academy Of Tropical Agriclltural Sciences หรือ CATAS) กล่าวว่าสถาบันวิทยาศาสตร์เกษตรเขตร้อนของจีนได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ เช่น การปรับปรุงพันธุ์ใหม่ การสาธิตเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรเขตร้อนอย่างเข้มข้น ทางสถาบันฯได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์และการศึกษา 25 แห่งในอาเซียน เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของไทย และ มหาวิทยาลัยเกษตรของกัมพูชา ทางสถาบันฯได้จัดฝึกอบรมเทคโนโลยีการเกษตรให้กับประเทศอาเซียนรวม 50 หลักสูตร มันสำปะหลังแปดพันธุ์ที่สถาบันปลูกได้รับการส่งเสริมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพื้นที่ปลูกรวมมากกว่า 67,000 เฮกตาร์
มณฑลไห่หนานภาคใต้ของจีนกำลังสร้างศูนย์โลจิสติกส์และศูนย์การค้าแบบห้องเย็นหลายแห่งเพื่อแปรรูปและจัดเก็บสินค้าเกษตรเขตร้อนสำหรับอาเซียน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างตลาดสินค้าเขตร้อนทั้งสองแห่ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลไห่หนานและกลุ่มประเทศอาเซียนได้ร่วมกันดำเนินการวิจัยและพัฒนารวมทั้งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรผักและผลไม้เขตร้อนชั้นเยี่ยม ขณะเดียวกันก็กระชับความร่วมมืออย่างลึกซึ้งในด้านการค้า การปลูกและแปรรูป โดยมีการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรเขตร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายเซี่ย จิง รองผู้ว่าการมณฑลไห่หนานเผยว่าไห่หนานจะใช้ประโยชน์จากระบบท่าเรือการค้าเสรีและความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการบูรณาการอย่างลึกซึ้งของห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่คุณค่าระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียน
จีนส่งออกปลา กระเทียม ส้ม แอปเปิ้ล เครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไปยังอาเซียนเป็นหลัก และนำเข้าผลไม้ น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ธัญพืช และสินค้าเกษตรเบื้องต้นอื่นๆ จากอาเซียน นายซุย เผิงเฟยผู้ร่วมฟอรั่มกล่าวว่า หากทั้งสองฝ่ายพัฒนาระดับการค้าอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการค้าสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องอาจสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5-7 ปีข้างหน้า จีนกับอาเซียนควรร่วมมือกันกำหนดมาตรฐานสำหรับการเพาะปลูกและการแปรรูปสินค้าเกษตรเขตร้อน ตลอดจนการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร