เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรก 2566 เติบโตรวดเร็ว เพิ่มความเชื่อมั่นในตลาด

(People's Daily Online)วันพุธ 19 เมษายน 2023

เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของปี 2566 เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยภาคบริการและการบริโภคที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งผลักดันให้การฟื้นตัวและความคาดหวังของตลาดดีขึ้นมาก แม้จะะมีปัจจัยท้าทายหลายด้าน


ผู้บริโภคช้อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้าในเมืองคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนาน 1 ม.ค. 2566
(ซินหัว/เลี่ยง จื้อเฉียง)

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็น 28.5 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 4.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) เปิดเผยเมื่อวันอังคาร

GDP เติบโตจากร้อยละ 3 ในปี 2565 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 จากไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว

ฟู่ หลิ่งฮุ่ย โฆษกของ NBS กล่าวว่า “เศรษฐกิจแห่งชาติของจีนเริ่มต้นได้ดีในปีนี้ และความคาดหวังของตลาดก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

“ในไตรมาสแรก จีนผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างราบรื่นในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในระยะเวลาอันสั้น” ฟู่กล่าว

ฟู่กล่าวว่า “การฟื้นตัวของภาคบริการซึ่งมีส่วนช่วยให้จีดีพีโดยรวมของไตรมาสแรกขยายตัวถึงร้อยละ 69.5 ถือเป็นจุดสดใสของการดำเนินงานทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้”

ผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มของภาคบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน โดยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมที่มีการติดต่อ ตั้งแต่การเดินทางไปจนถึงการจัดเลี้ยง

ภาคที่พักและการจัดเลี้ยงเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน ซึ่งตรงกันข้ามกับตัวเลขในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 5.8


ผู้โดยสารต่อแถวเพื่อเข้าสถานีรถไฟซูโจวในเมืองซูโจว มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน วันที่ 7 ม.ค. 2566
(ซินหัว/หลี่โป)

ตลาดมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้น โดยปริมาณผู้โดยสารรถไฟและเครื่องบินเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.7 และ 68.9 ตามลำดับในไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565

ข้อมูลเมื่อวันอังคารยังแสดงให้เห็นว่า ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนในไตรมาสแรก พลิกกลับจากที่ลดลงร้อยละ 2.7% ในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน

“ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความคาดหวังของผู้บริโภคก็ดีขึ้น” ฟู่กล่าว

เหลียน ผิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยการลงทุนจื้อซินกล่าวว่า “การบริโภคภายในประเทศของจีนเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตหลัก และคาดว่าการเติบโตของการบริโภคจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่สอง”


พนักงานจัดเรียงเส้นใยดิบที่ฐานการผลิตของบริษัท Zhongfu Shenying Carbon Fiber ในเมืองซีหนิง
มณฑลชิงไห่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 22 ก.พ. 2566 (ซินหัว/อู๋ กัง)

ตามข้อมูลของ NBS แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตทางอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อนในไตรมาสแรก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน

เมื่อมองไปข้างหน้า ฟู่กล่าวว่า การเติบโตในไตรมาสที่สองมีแนวโน้มที่จะเร็วกว่าในไตรมาสแรกอย่างมาก

แต่เนื่องจากฐานการเปรียบเทียบที่สูง การเติบโตในไตรมาสที่สามและสี่อาจช้าลงกว่าในไตรมาสที่สอง การเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปีมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบพื้นฐาน

จีนตั้งเป้าการเติบโตของจีดีพีไว้ที่ประมาณร้อยละ 5 ในปี 2566 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนจะเติบโตร้อยละ 5.2 ในปี 2566


ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2566 ตลาดนัดกลางคืนในเมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา
ชนชาติไท มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน (ซินหัว/เฉิน ซินโป)

ฟู่กล่าวว่า การเติบโตในอนาคตจะได้รับการสนับสนุนจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนในสินทรัพย์คงที่อย่างต่อเนื่อง เขาชี้ว่า เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในการขายอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างจะมั่นคง

สำหรับการส่งออก ฟู่ยอมรับว่าการค้าต่างประเทศของจีนอยู่ภายใต้แรงกดดัน แต่เขากล่าวว่า จีนมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมเสถียรภาพและปรับปรุงคุณภาพการค้าต่างประเทศตลอดทั้งปี

การค้าต่างประเทศของจีนขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบปีต่อปีในไตรมาสแรกของปี 2566 ตรงกันข้ามกับการลดลงร้อยละ 0.8 ในช่วงสองเดือนแรก

แม้ว่าปัจจัยบวกในการดำเนินการทางเศรษฐกิจของจีนยังคงสะสม แต่ฟู่เตือนว่ารากฐานของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่ง

เขาเตือนถึงความยากลำบากและความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจจีน รวมถึงสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่ซับซ้อน การเติบโตทั่วโลกที่อ่อนแอ อุปสงค์ในประเทศไม่เพียงพอ และปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำกัดการพัฒนาของจีน

จีนจะเน้นย้ำความพยายามในการพัฒนาคุณภาพสูง ดำเนินนโยบายมหภาคในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์และมีเป้าหมาย และพยายามปลดปล่อยศักยภาพของอุปสงค์ในประเทศ