เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียระบุจีนมอบโอกาสมากมายให้กับประเทศอาเซียน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองลาบวน บาโจ อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 โดยอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียที่ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ได้มอบโอกาสมากมายให้กับประเทศต่างๆ ในอาเซียน
นายเอดิ พริโอ แพมบูดี รองผู้ประสานงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย กล่าวในการให้สัมภาษณ์เป็นลายลักษณ์อักษรกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัวในช่วง 2 วันของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ที่เริ่มขึ้นในเมื่อวันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2566 ว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนเป็นแรงผลักดันสำคัญเบื้องหลังความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรืออาร์เซ็ปในปี 2565
ข้อตกลงการค้าเสรีอาร์เซ็ป ประกอบด้วย 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมถึง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และประเทศคู่ค้าของอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
นายเอดิ พริโอ แพมบูดี กล่าวว่าการเข้าร่วมของจีนในอาร์เซ็ป ทำให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงตลาดที่มีผู้บริโภคขนาดใหญ่ได้ เป็นการมอบโอกาสมากมายสำหรับผู้ส่งออกอาเซียน โดยถือว่าจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เขายังกล่าวด้วยว่า การไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จากจีนไปยังประเทศอาเซียน “ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน”
เจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจผู้นี้ยังได้ย้ำถึงบทบาทสำคัญของจีนในการรวมประเทศอาเซียนเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก โดยกล่าวว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคทำให้ห่วงโซ่มูลค่าระดับภูมิภาคสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศอาเซียนในการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก จีนในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในฐานการผลิตระดับโลกสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีขั้นสูง จะยังคงมีความสำคัญในบริบทนี้
เมื่อสังเกตเห็นภัยคุกคามจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ของทั่วโลก และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดและแนวโน้มของเศรษฐกิจอาเซียน นายเอดิ พริโอ แพมบูดีหวังว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีนจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ การสร้างมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การลดอุปสรรคทางการค้า และการส่งเสริมความคิดริเริ่มการบูรณาการระดับภูมิภาค เช่น อาร์เซ็ป สามารถกระตุ้นการค้าภายในภูมิภาคและเพิ่มความยืดหยุ่นของอาเซียนต่อความท้าทายของเศรษฐกิจโลก