กำไรอันแสนอร่อยจากปริมาณนำเข้าทุเรียนของจีนที่เพิ่มขึ้น

(People's Daily Online)วันพุธ 17 พฤษภาคม 2023


พนักงานของบริษัทผลไม้ฉงชิ่ง หงจิ่วกำลังเรียงทุเรียนส่งออกไปจีน ในโรงงานของบริษัทฯ ที่จังหวัดจันทบุรี
(ภาพจากซินหัว)

“ทุเรียน” ผลไม้เขตร้อน เป็นราชาแห่งผลไม้และมีลักษณะโดดเด่นด้วยกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ผลสีเขียว หนามใหญ่และราคาสูง

ทุเรียนแพร่หลายในจีนเนื่องจากการเข้าถึงตลาดจีนที่กว้างใหญ่เป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ส่งออกในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ คนวงในในตลาดผลไม้นำเข้ากล่าว

ในแง่ของการบริโภคทุเรียนโลก จีนตามหลังเพียงอินโดนีเซียและมาเลเซียในขณะนี้ เนื่องจากการผลิตผลไม้เขตร้อนภายในประเทศมีจำกัด จึงจำเป็นต้องนำเข้า

“ด้วยการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปของสนธิสัญญาหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ข้อตกลงการค้าเสรีระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด และข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น คาดว่าจะมีผู้นำเข้าทุเรียนมายังจีนจำนวนสูงขึ้น” นางสาววรรณลดา รัตนพานิช เจ้าหน้าที่กงสุลแผนกพาณิชย์ประจำสถานกงสุลไทย ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกล่าว

“จีนเป็นประเทศจุดหมายของการส่งออกที่สำคัญที่สุดของผู้ปลูกทุเรียนในไทย” เธอกล่าว

ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ประเทศไทย ในปี 2565 ผลไม้หลากหลายชนิดจำนวนมากมูลค่า 4.41 พันล้านเหรียญสหรัฐถูกส่งออกไปยังจีน ทุเรียน มังคุดและลำไยเป็นผลไม้สามอันดับแรก

นางสาววรรณลดากล่าวในงานเทศกาลผลไม้ไทยในหนานหนิงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า “จีนเป็นแหล่งการส่งออกผลไม้จากไทยที่มีศักยภาพมาก การนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยมีจำนวนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง   ความใกล้ชิดของกว่างซีกับไทยช่วยให้ผู้ส่งออกผลไม้ไทยเข้าถึงตลาดจีนได้ง่ายขึ้น ราคาของทุเรียนลดลงมากหลังจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ได้ผ่อนคลายลงในจีน ทำให้มีจำนวนผลไม้ที่เพียงพอต่อผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมาก”

อวี่ ฮุ่ยหย่ง ผู้ก่อตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเซินเจิ้นพาโกดา ผู้ค้าปลีกผลไม้ชื่อดังในมณฑลกวางตุ้งกล่าวว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มปริมาณการนำเข้าจากไทย โดยเฉพาะทุเรียน บริษัทฯ มีโรงงานมากกว่า 30 แห่ง และประเภทผลไม้ที่จำหน่ายมีมากกว่า 20 ชนิด รวมทั้งทุเรียน บริษัทฯ มีแผนนำเข้าผลไม้จากไทยจำนวน 630,000 ตันเมตริกในปีนี้

จากข้อมูลของ Yicai สำนักข่าวธุรกิจของจีน ทุเรียนครองตลาดผลไม้นำเข้าในจีนในปี 2565 ด้วยส่วนแบ่ง 4.02 พันล้านดอลลาร์จากปริมาณ 825,000 ตัน เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปี 2557 จากข้อมูลของกรมศุลกากร ระหว่างปี 2558 ถึง ในปี 2565 การนำเข้าทุเรียนสดไปยังจีนเพิ่มขึ้นในอัตรารวม 17 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ในเดือนมกราคม จีนได้ออกใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์ทุเรียนจากฟิลิปปินส์ ส่งผลให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทุเรียนจำนวนมากขึ้น เช่น ทุเรียนอบแห้งและอาหารรสทุเรียนจากฟิลิปปินส์ตั้งแต่เดือนเมษายน

หวาง เจียนจวิน ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนำเข้าและส่งออกอัวหนงเซี่ยงไฮ้กล่าวกับ Yicai ว่าทุเรียนมีปริมาณการนำเข้ามากกว่าเชอร์รี่ เนื่องจากบริษัทนำเข้าทุเรียนประมาณ 40,000 ตู้คอนเทนเนอร์ในปีที่แล้ว  “ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงในเมือง”

ผู้ค้าปลีกและบริษัทจัดเลี้ยงของจีนแสดงความสนใจอย่างมากในผลิตภัณฑ์ทุเรียน ตัวอย่างเช่น Wumart Group ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกที่โดดเด่นในจีนตอนเหนือกล่าวว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์ทุเรียนเติบโตขึ้นอย่างมากตั้งแต่เดือนเมษายน โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือของประเทศไทยและบางส่วนในเวียดนาม สินค้าต่าง ๆ ขายทางออฟไลน์มากกว่าทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม Wumart ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขยอดขายที่เกี่ยวข้องในแง่ของปริมาณและมูลค่า

เจสัน อวี่ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Kantar Worldpanel กล่าวว่า “ทุเรียนเป็นตัวแทนของผลไม้เมืองร้อน วิธีการขายทุเรียนแบบใหม่ เช่น การไลฟ์สดและช่องทางดิจิทัลช่วยกระตุ้นในการเพิ่มยอดขายได้“