RCEP กระตุ้นความนิยมทุเรียนของตลาดจีน

(People's Daily Online)วันอังคาร 23 พฤษภาคม 2023

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองหนานหนิงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ว่า ในช่วงเช้าตรู่ ตลาดไห่จีซิง (Haijixing) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองจ้วงกว่างซี คราคร่ำด้วยผู้คนทำให้ตลาดที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูแห่งนี้ยิ่งคึกคักมีชีวิตชีวา

รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นที่บรรทุกทุเรียนสดมาจอดที่แผงขายทุเรียนที่มีผู้คนพลุกพล่านเป็นประจำ โดยมีบรรดาผู้ซื้อที่กระตือรือร้นมาถึงก่อนเวลาเพื่อซื้อผลไม้ที่ดีที่สุดตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมามีการนำเข้าทุเรียนไทยในปริมาณมาก จนล้นตลาดจีน ซึ่งเป็นช่วงพีคซีซั่นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม

ในเมืองหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองจ้วงกว่างซี บริษัทในเครือเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้จัดนิทรรศการซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมด้วยกิจกรรมที่มีเสน่ห์มากมาย หนึ่งในไฮไลท์คือการเปิดตัวและจำหน่ายทุเรียนหมอนทองสดๆ นอกสถานที่ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความหวานและเนื้อทุเรียนที่นุ่มละมุน ซึ่งดึงดูดผู้ซื้อได้จำนวนมาก

นางเหลียง ซูถิง พนักงานบริษัทระบุ “ในงาน เราขายทุเรียนได้เฉลี่ยกวันละว่า 100 ลูก บริษัทมีแผนจะจัดงานเทศกาลทุเรียน และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการขายต่อไป” และเพิ่มเติมว่าบริษัทได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการห่วงโซ่อุปทานทุเรียนอย่างละเอียดรอบคอบและมีการใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เข้มงวดเพื่อให้มั่นใจถึงรสชาติของทุเรียน


ภาพจาก CFP

ตามข้อมูลของกรมศุลกากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่ประเทศจีนนำเข้ามากที่สุด เมื่อปีที่แล้วจีนนำเข้าทุเรียน 825,000 ตัน โดย 780,000 ตันมาจากไทย

นางกวน ไช่เซีย ซึ่งทำธุรกิจทุเรียนไทยมาสองทศวรรษได้เห็นการเติบโตของการค้าทุเรียนในจีนเล่าว่าในปี พ.ศ. 2546 มีคนไม่กี่คนที่ซื้อหรือขายทุเรียนในตลาด พร้อมเสริมว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนพ่อค้าทุเรียนและยอดขายทุเรียนเพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลจากตลาดไห่จีซิงแสดงให้เห็นว่าในตลาดแห่งนี้ปัจจุบันมีผู้ค้าส่งทุเรียน 32 ราย ปีที่แล้วมีการขายส่งทุเรียน 24,000 ตัน ณ วันที่ 5 พฤษภาคม ปีนี้ มีการขายทุเรียนไปแล้ว 17,000 ตัน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

โม่ เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรโหย่วเซียนหยวน เขตกว่างซีกล่าวว่าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยกลายเป็นผลไม้ที่มียอดขายสูงสุดและมีรสชาติที่โดดเด่น โดยปกติการจัดหาทุเรียนในแต่ละวันของเราจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยในช่วงที่มีความต้องการสูงสุดทำให้เรารับได้มากถึงวันละ 10 ตู้คอนเทนเนอร์

บริษัทของโม่เป็นผู้นำเข้าผลไม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายใหญ่ของจีน และได้ก่อตั้งห่วงโซ่อุปทานผลไม้จากอาเซียน เช่น ทุเรียน มะพร้าว และลำไยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทของเขาจัดส่งทุเรียนให้กับวอลมาร์ท (Walmart) และ พาโกดา (Pagoda) ในเมืองหนานหนิง และเหอหม่า เฟรช (Hema Fresh) ห่วงโซ่อาหารสดของอาลีบาบา (Alibaba) ทางตอนใต้ของจีน โม่กล่าวว่าการนำเข้าทุเรียนของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบสิบเท่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมา “เราวางแผนที่จะนำเข้าทุเรียนสดประมาณ 15,000-20,000 ตันในปีนี้ และอาจถึง 25,000 ตันหากคุณภาพของผลิตภัณฑ์คงที่”

นายเหอ เหยียน รองผู้จัดการทั่วไปของแซมส์คลับ (Sam's Club) ในเมือง หนานหนิงกล่าวว่าที่นี่ทุเรียนเป็นที่นิยมมาก และทุเรียนสดมักจะขายหมดเกลี้ยงภายในครึ่งวัน

นับตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP มีผลบังคับใช้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระดับภูมิภาคได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก สินค้าเกษตรจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น

เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 ทุเรียนสดของเวียดนามได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 กรมศุลกากรเริ่มอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากฟิลิปปินส์ ปัจจุบัน ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์เป็นซัพพลายเออร์หลักในการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนได้รับการพัฒนาและมีการปรับพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายในภูมิภาคด้วยการสร้างระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศแห่งใหม่ในภาคตะวันตกของจีน การเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว และการดำเนินการของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค