รถไฟข้ามพรมแดนมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจลาว

(People's Daily Online)วันจันทร์ 29 พฤษภาคม 2023

มุ่งเน้นถอนสถานะ Landlocked สู่ Land-linked ส่งผลดีต่อประเทศ

รถไฟสายจีน-ลาวได้เปิดโอกาสให้การพัฒนาเศรษฐกิจลาว และกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสุดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ตามข้อมูลจากรายงานของสถาบันเศรษฐกิจและสังคมศาสตร์ของลาว ภาคบริการช่วยขับดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว อุตสาหกรรมกระบวนการและการผลิตทางการเกษตรเพื่อส่งออก  

การเปิดประเทศของจีนและการเปิดบริการรถไฟสายจีน-ลาวมีความสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมการค้าในภูมิภาคและการแลกเปลี่ยนประชาชนต่อประชาชน   ในปี 2566 มีการคาดการณ์การเติบโตในภาคบริการอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ซึ่งถูกผลักดันจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยว การขายส่งและขายปลีก ภาคบริการร้านอาหารและโรงแรม ตลอดจนภาคลอจิสติกส์

เมื่อวันที่ 13 เมษายา รถไฟเที่ยวแรกจากเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว เปิดวิ่งให้บริการผู้โดยสารสู่คุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มแรกจำนวนมากกว่า 200 คน เดินทางมาถึงลาวด้วยการโดยสารรถไฟข้ามแดนครั้งแรก   นางสวนสวรรค์ วิยะเกต (Suanesavanh Vignaket) รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูล วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวลาวกล่าวในพิธีเปิดบริการรถไฟข้ามพรมแดนว่า “รัฐบาลลาวหวังว่าทางรถไฟจะเป็นการสร้างระเบียงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้สู่ประเทศ รวมทั้งนำนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างภูมิภาคเดินทางมาเที่ยวลาวมากขึ้น” 

ทางรถไฟได้ให้บริการผู้โดยสารข้ามพรมแดนจำนวน 13,310 เที่ยวตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการผู้โดยสาร    เนื่องจากเส้นทางรถไฟกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวของลาวประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 368,000 รายเดินทางมาเที่ยวลาวในปี 2566 สูงขึ้นถึงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปี 2565


นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสถานีรถไฟเวียงจันทน์ของลาว เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 (ซินหัว)

บริการรถไฟข้ามพรมแดนใหม่นี้ได้รับการโฆษณาอย่างกว้างขวางในระดับสากล โดยเป็นส่วนหนึ่งของบริการขนส่งผู้โดยสารแบบครบวงจรเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในลาว ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนกับจีน

โครงการเชื่อมต่อระหว่างแนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ที่เสนอโดยจีนกับยุทธศาสตร์ของลาวในการเปลี่ยนประเทศจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (landlocked) ไปสู่ศูนย์กลางที่เชื่อมโยงทางบก (land-linked)

ในขณะเดียวกันจะเป็นการวางรากฐานใหม่สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ และลาวจะใช้โอกาสนี้ในการเข้าร่วมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับภูมิภาคและระดับโลก

นับตั้งแต่การเริ่มให้บริการในเดือนธันวาคม 2564 มีการใช้ทางรถไฟมากขึ้นสำหรับการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค เนื่องจากเป็นบริการที่คุ้มค่า

ตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน 2566 เส้นทางรถไฟใหม่ขนส่งสินค้าจำนวนเกือบ 6.7 ล้านเมตริกตัน สูงขึ้นถึงร้อยละ 156 เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันของปีก่อน ทำให้ปริมาณสินค้าทั้งหมดที่ขนส่งทางรถไฟตั้งแต่เริ่มดำเนินการมีมากกว่า 20 ล้านตัน