ทางรถไฟจีน-ไทย เดินหน้าก่อสร้างอย่างราบรื่น
ภาพการก่อสร้างของโครงการรางรถไฟจีน-ไทยในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเทศไทย (พีเพิลส์เดลี่)
การก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย เป็นโครงการสำคัญที่แสดงถึงการก่อสร้างคุณภาพสูงภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ เมื่อสร้างเสร็จ เป็นที่คาดหวังว่ารถไฟสายนี้จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรถไฟระหว่างจีน-ลาว
อำเภอปากช่องในจังหวัดนครราชสีมา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นเกตเวย์สำคัญในการเชื่อมภาคกลางของไทยกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ จังหวัดนครราชสีมาเป็นสถานีแรกของโครงการรถไฟระหว่างจีน-ไทย ปัจจุบัน การก่อสร้างในเฟสแรกกำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง
นายวิโรจน์ รองหัวหน้าควบคุมทีมก่อสร้างในโครงการจะขึ้นลิฟต์สูงกว่าหลายสิบเมตรเพื่อตรวจสอบคุณภาพของการก่อสร้างในทุกสัปดาห์ เขากล่าวว่า “ทีมจากประเทศจีนได้นำเทคโนโลยีทันสมัยและประสบการณ์ในการจัดการมาใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้” รถไฟจีน-ไทยได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานและการปล่อยคาร์บอนระดับต่ำในระหว่างการก่อสร้าง มีลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากในนครราชสีมาแล้ว จะมีการเริ่มก่อสร้างในพระนครศรีอยุธยา สระบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ตามเส้นทางสายรถไฟ
การติดตั้งคานสำเร็จรูปในส่วนที่ 4-3 ของโครงการรถไฟจีน-ไทย (พีเพิลส์เดลี่)
รถไฟจีน-ไทย ส่วนที่ 4-3 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่ง จนถึงขณะนี้ ตอกเสาเข็มไปแล้ว 1,912 เสา สร้างฐานรองรับ 106 แท่น และสร้างตอม่อ 17 ท่า นอกจากนี้ คานสำเร็จรูปที่จะใช้สำหรับก่อสร้างก็ถูกวางเตรียมไว้อย่างเรียบร้อย
โครงการในเฟสแรกเชื่อมกรุงเทพฯ กับนครราชสีมา และโครงการในเฟสที่สองจะเชื่อมจังหวัดหนองคายกับเวียงจันทน์ เมืองหลวงของ สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าจะเชื่อมกับสายรถไฟจีน-ลาว สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในกรุงเทพฯ จะทำหน้าที่เป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างสายรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว-ไทย กับสายรถไฟความเร็วสูงไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่า “การก่อสร้างโครงการรถไฟจีน-ไทยเฟสแรกคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 16.72 เมื่อกลางเดือนมกราคมปีนี้ และคาดว่าทางรถไฟจะเปิดใช้งานในปี 2570 ระยะที่สองของโครงการคาดว่าจะเริ่มในปี 2567 และมีเป้าหมายที่จะเปิดในปี 2571”
ภาพการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทยในส่วนที่ 4-3 (พีเพิลส์เดลี่)
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้แทนการรถไฟไทยและเจ้าหน้าที่ศุลกากรเดินทางเยือนลาวเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ ทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยมีแนวโน้มที่จะลดต้นทุนการขนส่งสินค้าลงร้อยละ 30 ถึง 50 ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
ประเทศไทยได้เพิ่มความพยายามในปีที่ผ่านมาในการเข้าร่วมดำเนินงานเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ซึ่งรวมถึงการยกระดับเครือข่ายการขนส่งภายในประเทศและสิ่งอำนวยความสะดวกทางรถไฟ รวมทั้งมีการเพิ่มขีดความสามารถของคลังสินค้า การกระจายสินค้า และการตรวจสอบสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อกันว่าทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยจะส่งเสริมการพัฒนาอนุภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ
นายนิรุฒให้ข้อมูลว่า เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงจะไม่เพียงเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย แต่ยังเป็นการสร้างระบบรถไฟแห่งอาเซียน
พลเอก สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนภายใต้สภาวิจัยแห่งชาติกล่าวว่า “มีการคาดหวังว่าเครือข่ายสายรถไฟดังกล่าวจะสร้างการเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งระหว่างประเทศในอาเซียน และช่วยพวกเขาในการได้รับโอกาสใหม่ ๆ ทางการตลาด”
ความสอดคล้องระหว่างแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียนปี 2568 (the Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) และ BRI จะช่วยเสริมสร้างการเชื่อมโยงให้แน่นแฟ้นขึ้น ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากร ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับประเทศต่าง ๆ ตาม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”