การจัดการปัญหาดินเค็ม-ดินด่างให้เป็นดินอุดมสมบูรณ์

(People's Daily Online)วันพุธ 07 มิถุนายน 2023


ภาพจากการเก็บเกี่ยวที่เมืองต๋าอัน ทางตะวันตกของมณฑลจี๋หลิน
ตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
(ซินหัว/หลี่ เสี่ยวหมิง)

จีนมีพื้นที่ดินเค็ม-ดินด่างประมาณ 1.5 พันล้านโหม่ว (ประมาณ 625 ล้านไร่) ใหญ่เป็นอันดับที่สามของโลก ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศได้รับการจัดการอย่างเข้มงวดและมีการปรับปรุงพื้นที่ดินเค็ม-ดินด่าง ลดจำนวนพื้นที่และสร้างความก้าวหน้าในการใช้ประโยชน์ของดินประเภทดังกล่าว

หู ฉางไห่ ผู้ปลูกธัญพืชในหมู่บ้านอู๋จวง เมืองตงอิ๋ง มณฑลชานตง ทางตะวันออกของจีน กำลังเก็บเกี่ยวข้าวสาลีอย่างขะมักเขม้น เขากล่าวว่า ในอดีต หมู่บ้านมีพื้นที่ดินด่างและไม่สามารถปลูกอะไรขึ้นเลย

เมืองตงอิ๋ง มณฑลชานตง มีพื้นที่ดินเค็มและดินด่างสำหรับการทำเกษตรกรรม 1.96 ล้านโหมว ซึ่งนับเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่ปลูกพืชทั้งเมือง การเปลี่ยนพื้นที่ดินเค็มและดินด่างให้เป็นดินที่อุดมสมบูรณ์เป็นงานที่สำคัญเสมอ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรมในเมืองตงอิ๋ง

เกลือและสารความด่างในดินของพื้นที่ปลูกประเภทดังกล่าวจะมีปริมาณสูงกว่าระดับทั่วไป ซึ่งส่งผลให้ทำการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวได้ยาก

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนกล่าวว่า “ตามประสบการณ์ที่ผ่านมาของจีน หลังจากการปรับปรุงพื้นที่ดินเค็ม-ดินด่างแล้ว ทำให้ได้ผลผลิตข้าวสูงถึง 6 ตันต่อเฮกตาร์”


เกษตรกรรมปลูกข้าวในพื้นที่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน
ทางตอนเหนือของจีน
(ซินหัว/หลิว เหล่ย)

การรักษาพื้นที่ดินเค็มและดินด่างเป็นเรื่องยาก แต่ทางออกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพคือการสร้างความสมดุลของน้ำและเกลือในดินอย่างเหมาะสม

หลิว จื้อซิน นักวิจัยจากศูนย์บริการการใช้ประโยชน์จากดินด่าง-ดินเค็ม เขตสาธิตอุตสาหกรรมไฮเทคทางการเกษตรสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเหลืองชานตงในเมืองตงอิ๋งกล่าวว่า “เราได้เริ่มประยุกต์ใช้การแก้ปัญหาใหม่ในการลดเกลือในดิน รวมถึงการล้างเกลือออกจากดินด้วยน้ำที่ส่งผ่านท่อ ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยประหยัดน้ำด้วย เรายังเปลี่ยนช่องทางน้ำที่กว้าง 10 เมตรเป็นช่องทางที่แคบลง ด้วยวิธีการดังกล่าว เราสามารถลดปริมาณเกลือในดินจากระหว่างร้อยละ 0.4 ถึง 0.6 ใน 3 ปี ให้เหลือต่ำกว่าร้อยละ 0.3 ได้ และลดการใช้น้ำได้มากกว่าร้อยละ 38”

เถียน ฉางเยี่ยน นักวิจัยจากสถาบันนิเวศวิทยาและภูมิศาสตร์ซินเจียง ภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนกล่าวว่า “เราค้นพบว่าพืชบางประเภทสามารถดูดซับเกลือจากดิน และเราปลูกพืชเหล่านั้นที่สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์หรือมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต้องขอบคุณพืชเหล่านั้น ในปีแรกของการปลูกส่งผลให้ปริมาณเกลือในดินลดลงถึงร้อยละ 40 ในปีที่สองปริมาณเกลือลดลงกว่าร้อยละ 60 และในปีที่สามลดลงถึงร้อยละ 80-90”

ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งชาติเพื่อการใช้ประโยชน์จากที่ดินด่างและดินเค็มเพิ่งก่อตั้งขึ้นในมณฑลชานตง โดย จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในการเพาะปลูกธัญพืช พืชน้ำมัน และพืชเศรษฐกิจพิเศษพันธุ์ใหม่มากกว่า 80 ชนิดที่ทนต่อความเค็มปานกลาง และเพิ่มจำนวนกำลังการผลิตทั้งหมดให้ได้มากกว่าร้อยละ 25 ต่อหน่วยพื้นที่