บทสัมภาษณ์: การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเพิ่มแรงผลักดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

(People's Daily Online)วันจันทร์ 24 กรกฎาคม 2023

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัวว่า “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและความร่วมมือทางอุตสาหกรรมจีน-ไทยในระดับที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยรักษาแนวโน้มการฟื้นตัวได้ รวมทั้งช่วยให้ประเทศไทยรับมือกับความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจไทย”

ดร.กิริฎากล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวน ปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนสูง ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท รวมทั้งภัยธรรมชาติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนสามารถสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าของไทย และคาดว่าการส่งออกของไทยจะยังคงหดตัวในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า มูลค่ารวมของการส่งออกของไทยจะหดตัวลงร้อยละ 1.2 ในปี 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ดร.กิริฎาเชื่อว่า จีนเป็นคู่ค้าอันสำคัญของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งยังเป็นประเทศรายใหญ่ในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และแหล่งสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ดังนั้นการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเช่นกัน

ตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย (The Board of Investment of Thailand หรือ BOI) ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 มูลค่าคำขอลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยสูงถึง 364,400 ล้านบาท (ประมาณ 75,100 ล้านหยวน) เพิ่มขึ้นร้อย 70 เมื่อเทียบปี่ต่อปี โดยในจำนวนนี้ จีนเป็นแหล่งเงินทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด และได้สมัครโครงการ 132 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 61,500 ล้านบาท (ประมาณ 12,700 ล้านหยวน)

ดร.กิริฎาให้ข้อคิดเห็นว่า ความร่วมมือด้านเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยและจีนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และขนาดการลงทุนในการก่อสร้างโรงงานที่ไทยก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ส่งเสริมการพัฒนาของไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์พลังงานใหม่(NEV)

ตามแนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย

ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ไทยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 56.1 ซึ่งอยู่เหนือระดับความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่เจ็ด

ดร.กิริฎากล่าวเพิ่มว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังไทยที่เกินความคาดหมาย ช่วยเพิ่มแรงผลักดันอันแข็งแกร่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้”