การรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

(People's Daily Online)วันพุธ 26 กรกฎาคม 2023


ในสภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้งนี้ เกิดไฟป่าขึ้นหลายแห่งที่ประเทศกรีซ ชายคนหนึ่งกำลังอุ้มเด็กคนหนึ่ง
เพื่ออพยพออกจากพื้นที่ไฟป่าในเกาะโรดส์ ประเทศกรีซ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 ก.ค. พ.ศ. 2566 (ซินหัว)

ล่าสุด อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกคำเตือนว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่เหนือการควบคุมแล้ว”

ตามรายงานจากเดอะการ์เดียน (The Guardian) หนังสือพิมพ์รายวันแห่งชาติอังกฤษ ระบุว่า รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ (World Meteorological Organization หรือ WMO) เปิดเผยว่า ในไม่กี่วันที่ผ่านมา โลกได้เข้าสู่สัปดาห์ที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก และเจ้าหน้าที่คนหนึ่งจากองค์การฯ นี้ชี้ให้เห็นว่า “ปรากฏการณ์เอลนีโญพัฒนาอย่างคืบหน้า อาจทำให้มีสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในอนาคต”

ตั้งแต่ต้นปีมานี้ มีภัยพิบัติทางอากาศเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น อุณหภูมิสูง ภัยแล้ง ภัยลมพายุ ฝนตกหนัก น้ำท่วม ไฟป่า สภาพอากาศสุดขั้วกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งสัญญาณเตือนมนุษยชาติให้ตระหนักถึงสถานการณ์ที่รุนแรงของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

สภาพอากาศสุดขั้วส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทั่วโลก

อุณหภูมิที่สูงผิดปกติในหลายพื้นที่ทั่วโลกก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพของผู้คนนับล้าน

ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) จากฝรั่งเศส ระบุว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐต่าง ๆ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนอันรุนแรงทำให้ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนตกอยู่ในอุณหภูมิที่สูงสุดขั้ว

ตามรายงานบทหนึ่งจากเดอะแลนซิต (The Lancet) วารสารชั้นนำทางการแพทย์ของอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อสุขภาพของชาวอเมริกาใต้แล้ว ตั้งแต่ปี 2543 จำนวนผู้มีอายุเกิน 65 ปีในอเมริกาใต้ที่เสียชีวิตจากอุณหภูมิสูงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พายุฝน น้ำท่วม และภัยพิบัติอื่น ๆ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการเกษตร การผลิตภาคอุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในหลายประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ในอินเดีย ราคาข้าวขายปลีกพุ่งสูงขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ เนื่องจากฝนตกหนักอย่างผิดปกติดในช่วงฤดูฝน ซึ่งสร้างความเสียหายอันร้ายแรงให้กับพืชผล อินเดียสั่งระงับการส่งออกข้าวประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นประเภทที่อินเดียส่งออกต่างประเทศมากที่สุด สิ่งนี้อาจส่งผลให้ราคาอาหารโลกสูงขึ้น

ประเทศพัฒนาแล้วขาดการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตรงจุด

อวี๋ หงหยวน ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยนานาชาติศึกษาเซี่ยงไฮ้ (SISU) วิเคราะห์ว่า “มองในระยะยาว ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงในทั่วโลกบ่อยครั้ง” “นี่คือฉันทามติในวงวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ และการขาดการดำเนินการโดยประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ความคืบหน้าในการรักษาสภาพภูมิอากาศโลกล่าช้า”

ในแง่มุมหนึ่ง เจตจำนงทางการเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้วในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกลดลงอย่างมาก ประเด็น “สภาพภูมิอากาศ” ไม่ได้มีความสำคัญสูงสุดสำหรับประเทศเหล่านี้อีกต่อไป อีกทั้ง พันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซและคำมั่นสัญญาให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่บันทึกใน “ข้อตกลงปารีส” (Paris Agreement) นั้นยังไม่บรรลุผล

ในอีกแง่มุมหนึ่ง เพื่อรักษาระเบียบระหว่างประเทศที่ครอบงำโดยพวกเขา ชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มการแข่งขันเพื่อสิทธิในการพูดในประเด็น “ธรรมาภิบาลเพื่อสภาพภูมิอากาศโลก” และมีส่วนร่วมในการแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างรุนแรงขึ้น เกี่ยวกับหลักการ “ความรับผิดชอบร่วมที่แต่แตกต่างกัน” ซึ่งได้เพิ่มความตึงเครียดต่อการแก้ปัญหาสภาพอากาศ ทำให้การจัดการสภาพภูมิอากาศโลกอย่างมีธรรมาภิบาลมีแนวโน้ม “แตกแยก”และทวีความรุนแรงขึ้น

การสร้างฉันทามติเป็นสิ่งสำคัญ

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกคำเตือนในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ประจำปี 2566 ว่า“เราได้ขึ้นทางด่วนสู่นรกแห่งสภาพภูมิอากาศแล้ว และเท้าของเรากำลังเหยียบบนคันเร่ง”

กูเตอร์เรสกล่าวสุนทรพจน์ผ่านวิดีโอในวันคุ้มครองโลกปีนี้ เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเร่งดำเนินการด้านสภาพอากาศ และให้รัฐบาลของทุกประเทศแสดงบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

หลี่ เฉียง คณบดีคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศเทียนจิน (Tianjin Foreign Studies University) กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า “ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนได้ส่งเสริมการดำเนินเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” และ “จุดสูงสุดของคาร์บอน” อย่างแข็งขัน และการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำก็ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด”

อวี๋ หงหยวนกล่าวว่า “ในปัจจุบัน การสร้างฉันทามติเป็นสิ่งสำคัญมาก การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายร่วมกันของมวลมนุษยชาติ  ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นทางเลือกเดียวที่ถูกต้องในการรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง” พร้อมกล่าวเสริมว่า “ประเทศต่าง ๆ สามารถร่วมกันรับมือกับความท้าทายนี้ผ่านการเจรจาระหว่างประเทศ การใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี การแบ่งปันข้อมูล การสนับสนุนทางการเงิน ฯลฯ ”