นักวิชาการแทนซาเนีย: ควรสนับสนุนให้ประเทศในแอฟริกาเข้าร่วมกลไกความร่วมมือ BRICS

(People's Daily Online)วันจันทร์ 28 สิงหาคม 2023


ฮัมฟรีย์ โมชี่ (Humphrey Moshy) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยจีนแห่งมหาวิทยาลัย ดาร์ เอส ซาลาม
(University of Dar es Salaam) ในประเทศแทนซาเนีย (ภาพเอื้อเฟื้อโดยผู้ให้สัมภาษณ์)

การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ครั้งที่ 15 จัดขึ้นที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 21 ถึง 24 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ฮัมฟรีย์ โมชี่ (Humphrey Moshy) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยจีนแห่งมหาวิทยาลัย ดาร์ เอส ซาลาม (University of Dar es Salaam) ในประเทศแทนซาเนีย กล่าวให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาสามารถใช้ BRICS และกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และควรสร้างแรงบันดาลใจให้ประเทศในแอฟริกาเข้าร่วมกลไกความร่วมมือ BRICS

ปัจจุบัน สถานการณ์ระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแอฟริกาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมธัญพืชซึ่งมีข้าวสาลีและน้ำมันพืชเป็นหลัก ทวีปแอฟริกากำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย

โมชี่กล่าวว่า หากประเทศในแอฟริกาสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มระหว่างประเทศ รวมถึง BRICS ได้ แต่ละประเทศก็จะพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมของแอฟริกามีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จึงจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากการเกษตรเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจแอฟริกา และ ครัวเรือนในแอฟริการ้อยละ 64 พึ่งพาการเกษตรเพื่อการดำรงชีวิต”

เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือจีน-แอฟริกา โมชี่ชี้ให้เห็นว่า ความร่วมมือแอฟริกา-จีนมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ลึกซึ้งยิ่งขึ้นทุกวัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมอันใกล้ชิดกับทวีปแอฟริกาผ่านแพลตฟอร์มฟอรั่มว่าด้วยความร่วมมือจีน-แอฟริกาและข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI)

โมชี่กล่าวเสริมว่า “วิธีที่จีนดำเนินการการค้าและการลงทุนกับประเทศอื่น ๆ แตกต่างจากวิธีของประเทศตะวันตก จีนใช้รูปแบบที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ การค้าและการลงทุนระหว่างแอฟริกาและจีนเติบโตอย่างรวดเร็วทุกปี ช่วยผลักดันเศรษฐกิจแอฟริกาให้พัฒนาเร็วขึ้นและช่วยลดความยากจนในแอฟริกา รวมถึงส่งเสริมการจ้างงานในแอฟริกาด้วย”