ไทยออกตำราเรียนอักษรเบรลล์ภาษาจีน เพื่อช่วยผู้พิการให้สามารถเรียนรู้ภาษาจีนได้อย่างแม่นยำ

(People's Daily Online)วันจันทร์ 08 มกราคม 2024

ในห้องเรียนของโรงเรียนสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ครูผู้พิการทางสายตากำลังร้องเพลงจีนคลาสิก “ดวงจันทร์แทนใจฉัน” (The Moon Represents My Heart) และเสียงร้องอันไพเราะก็ประทับลงไปในใจของผู้ฟังทุกคน

นันทพร กรราม ครูวัย 30 ปี ทำงานในโรงเรียนคนตาบอดที่กรุงเทพฯ แม้ว่านันทพรจะตาบอดมาตั้งแต่กำเนิดแต่ด้วยความรักในภาษาจีนช่วยส่องแสงสว่างให้เธอตลอดช่วงการเติบโต เธอหลงใหลเพลงจีนตั้งแต่เด็ก ๆ และเริ่มเรียนภาษาจีนมาตั้งแต่มัธยมปลาย

นันทพรกล่าวว่า “ตอนแรก ฉันคิดว่าการออกเสียงในภาษาจีนนั้นดีมากและฉันก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านการเรียนภาษาจีน”

นันทพรได้ร่วมอบรมตำราการเรียนด้วยอักษรเบรลล์ภาษาจีนครั้งแรกในปีที่แล้ว ในฐานะที่เป็นนักเรียนตาบอดคนแรกที่จบการศึกษาจากสำนักจีนวิทยาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในปี 2565

อักษรเบรลล์ หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นตัวนูนที่ออกแบบมาสำหรับคนตาบอดซึ่งอาศัยการรับรู้แบบสัมผัสด้วยระบบจุด 6 จุดซึ่งเป็นระบบอักษรเบรลล์สากลที่ใช้กันทั่วโลก สามารถสื่อสารความหมายด้วยการจัดเรียงจุดทั้งหกสลับกัน

ก่อนวันที่ 4 ม.ค. วันอักษรเบรลล์โลก อาจารย์เทวพงษ์ พวงเพชร ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการใช้อักษรเบรลล์แห่งชาติ ได้แสดงตำราเรียนอักษรเบรลล์ภาษาจีนซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ให้กับผู้สื่อข่าวจากซินหัว

อาจารย์เทวพงษ์กล่าวว่า กองทุนนี้สังกัดภายใต้สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีโรงเรียนตาบอดในไทย 17 แห่ง ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับไทยมากขึ้น โรงเรียนตาบอดจำนวนมากขึ้นเริ่มสอนภาษาจีนและมีความต้องการใช้ตำราอักษรเบรลล์ภาษาจีนมากขึ้นอย่างเร่งด่วน

เขากล่าวเพิ่มว่า “หากนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตาต้องการเรียนภาษาจีนให้ดี นอกจากทักษะการฟังและการพูดแล้ว การอ่านและการเขียนก็มีความสําคัญเช่นกัน”

เขาเสริมว่า การสอนภาษาจีนของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงนั้นยอดเยี่ยมและมีประสบการณ์ในการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตา

ปีที่ผ่านมา สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับครูจากสำนักจีนวิทยาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในการรวบรวมตำราอักษรเบรลล์ภาษาจีน เพื่อช่วยให้นักเรียนผู้พิการทางสายตาสามารถเรียนการอ่านและการเขียนภาษาจีนได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นพเก้า แซ่โค้ว อาจารย์จากสำนักจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หนึ่งในผู้แต่งตำราอักษรเบรลล์ภาษาจีน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โรงเรียนในไทยยังขาดตำราเรียนอักษรเบรลล์ภาษาจีนอย่างเป็นระบบและครอบคลุม จุดประสงค์ของการรวบรวมหนังสือเรียนนี้คือเพื่อสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตาและครูในโรงเรียนคนตาบอดในประเทศไทย และพยายามครอบคลุมผู้เรียนภาษาจีนในระดับต่าง ๆ ให้มากขึ้น

หลังจากสองเดือนของการรวบรวมและแก้ไข หนังสือเรียนอักษรเบรลล์จีนก็เสร็จสิ้นในกลางปีที่แล้ว และตีพิมพ์ชุดแรกจำนวน 300 เล่มด้วยเงินทุนของธนาคารแห่งประเทศจีน (ประเทศไทย) สําหรับการฝึกอบรมครูในโรงเรียนคนตาบอดไทย

นันทพรกล่าวว่า “ก่อนการตีพิมพ์หนังสือเรียนอักษรเบรลล์จีนในประเทศไทย ผู้คนมักใช้อักษรเบรลล์ภาษาอังกฤษเพื่อจดบันทึกตัวอักษรจีน แต่การออกเสียงมักไม่ได้มาตรฐาน”

เธอเสริมว่าหนังสือเรียนใหม่ไม่เพียงแต่ใช้ระบบอักษรเบรลล์พินอินเพื่อทําให้การออกเสียงแม่นยํายิ่งขึ้น แต่ยังเพิ่มวรรณยุกต์ในภาษาจีนและให้การเปรียบเทียบอักษรเบรลล์ภาษาจีนและไทย ซึ่งสะดวกกว่าตอนที่เธอเรียนภาษาจีนมาก่อนมาก

อาจารย์เทวพงษ์กล่าวว่า ปีนี้สมาคมวางแผนตีพิมพ์ตำราอักษรเบรลล์ภาษาจีนอีก 200 เล่มและสนับสนุนให้โรงเรียนตาบอดหลายแห่งในประเทศไทยได้ใช้ในการเรียนการสอน