จีนมีเมืองพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติรวม 22 แห่ง

(People's Daily Online)วันจันทร์ 17 กุมภาพันธ์ 2025

เมืองพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติแห่งใหม่ล่าสุดได้แก่ เมืองในประเทศจีน 9 แห่ง ซึ่งรวมถึงเมืองต้าหลี่ในมณฑลยูนนาน เมืองลาซาในเขตปกครองตนเองทิเบต เมืองฝูโจวในมณฑลฝูเจี้ยน และเมืองเย่ว์หยางในมณฑลหูหนาน นับเป็นการประกาศเมืองพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติชุดที่สาม หลังจากที่มีการประกาศไปแล้วในปี 2561 และ 2565

ในการประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (แรมซาร์) ครั้งที่ 64 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองกล็องด์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการประกาศเพิ่มเมืองอีก 31 เมืองเข้าในโครงการรับรองเมืองพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland City Accreditation) ปัจจุบันมีเมืองที่ได้รับการรับรองแล้ว 74 เมืองทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในประเทศจีน 22 เมือง

ตามข้อมูลจากสำนักบริหารป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีน พื้นที่ชุ่มน้ำมักถูกเรียกว่า “ไตของโลก” เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการกรองน้ำ ควบคุมสภาพอากาศ และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

ตามข้อมูลของสำนักงานฯ ด้วยการห้ามการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำหมิ่นเจียงในเขตฉางเล่อของเมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน ได้ฟื้นฟูการทำงานทางนิเวศวิทยาแล้วมากกว่าร้อยละ 55 ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของนกกระสาปากช้อนหน้าดำ ซึ่งเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ระดับโลก

เมืองเย่ว์หยางในมณฑลหูหนานเริ่มต้นการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และได้จัดตั้งเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าทะเลสาบตงถิงตะวันออกขึ้น เมืองนี้มีอัตราการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำสูงถึงร้อยละ 67 และมีนกกว่า 300 ชนิดอาศัยอยู่ รวมถึงนกที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองระดับชาติชั้นหนึ่ง 18 ชนิด ตามข้อมูลของรัฐบาลท้องถิ่น

ในกระบวนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมการดูนกที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมยังช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่อีกด้วย

มูซอนดา มัมบา เลขาธิการอนุสัญญาแรมซาร์ กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า จีนได้บูรณาการการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำกับการพัฒนาเมืองผ่านการวางแผนทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั่วโลก

เล่ย กวงชุน ศาสตราจารย์ด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศจากมหาวิทยาลัยป่าไม้ปักกิ่ง กล่าวว่า การปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำของจีนได้ก้าวเข้าสู่ “ระยะใหม่ของการพัฒนาคุณภาพสูง”

ข้อมูลจากสำนักบริหารป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีนแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่จีนเข้าร่วมอนุสัญญาแรมซาร์ในปี 2535 จีนได้ปรับปรุงกฎหมายและนโยบายในการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำและก้าวหน้าไปอย่างมาก ปัจจุบันจีนมีพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญ 82 แห่ง โดยมีพื้นที่ชุ่มน้ำถาวรที่ 56.35 ล้านเฮกตาร์ จัดอยู่ในอันดับที่ 1 ของเอเชียและอันดับที่ 4 ของโลก

ศาสตราจารย์เล่ยกล่าวเพิ่มเติมว่า จีนกำลังร่วมมือกับประเทศในแอฟริกาเพื่อพัฒนาโครงการป่าชายเลนซึ่งคาดว่าจะดูดซับคาร์บอนได้ 500,000 ตันต่อปี ส่งผลให้เกิดการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

ตามข้อมูลของสำนักบริหารป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีน ในเดือนกรกฎาคมนี้ การประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาแรมซาร์ ครั้งที่ 15 จะจัดขึ้นที่ประเทศซิมบับเว จีนจะแบ่งปันความสำเร็จทางเทคโนโลยี เช่น ระบบตรวจสอบพื้นที่ชุ่มน้ำอัจฉริยะและการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดเล็กในการประชุมครั้งนี้