จีนสนับสนุนให้นักเรียนเรียนวิชาพละทุกวันเพื่อเสริมสร้างสุขภาพกายและจิตใจ

(People's Daily Online)วันอังคาร 25 กุมภาพันธ์ 2025


นักเรียนเล่นเกมกลางแจ้งที่โรงรียนประถมในเมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 (ซินหัว)

เนื่องงด้วยการเน้นย้ำในเรื่องการศึกษาวิชาพละ เมืองเซินเจิ้น ทางตอนใต้ของจีนมีจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่สวมแว่นตาน้อยลง

สำนักการศึกษาเทศบาลนครเซินเจิ้นเพิ่งเผยข้อมูลหลังจากได้ดำเนินการให้นักเรียน ในระดับการศึกษาภาคบังคับได้เรียน “วิชาพละทุกวัน” เป็นเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 อัตราสายตาสั้นโดยรวมของเด็กและวัยรุ่นในเซินเจิ้นลดลงเหลือร้อยละ 55.5 ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 1.2 ขณะเดียวกัน การวัดผลความเป็นเลิศด้านสมรรถภาพทางกายของนักเรียนก็เพิ่มขึ้นจากปี 2566 กว่าร้อยละ 6

เจิ้ง ซิ่วอวี่ หัวหน้าสำนักการศึกษาเทศบาลนครเซินเจิ้นระบุว่า “จากข้อมูล ฉันรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับการเริ่มดำเนินการตามนโยบาย การปฏิบัติมาเป็นเวลาหนึ่งปีพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง”

นับตั้งแต่เริ่มต้นภาคการศึกษาใหม่นี้ ภูมิภาคระดับมณฑลหลายแห่งในประเทศจีนได้ออกนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนมีกิจกรรมช่วงพักที่เหมาะสมและมีการเรียนวิชาพละที่เพียงพอเพื่อปรับปรุงสุขภาพของพวกเขา

วิชาพละวันละคาบเป็นวิชาบังคับ

ปักกิ่งได้เผยแพร่เอกสารเพื่อเสริมสร้างการพลศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยสรุปมาตรการ 8 ประการ รวมถึงการจัดให้มีชั้นเรียน PE หนึ่งชั้นเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น และรับรองว่าพวกเขาได้ทำกิจกรรมทางกายอย่างครอบคลุมอย่างน้อยสองชั่วโมงทุกวัน

ภูมิภาคต่าง ๆ เช่น หูหนาน หูเป่ย กานซู่ เทียนจินและเสฉวนเพิ่งออกเอกสารที่คล้ายคลึงกันนี้

ความคิดริเริ่มเหล่านี้เกิดจากการตระหนักถึงสุขภาพทางกายและจิตใจของนักเรียนระดับประถมและมัธยมที่เพิ่มมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา

รายงานในปี 2567 เผยว่า มูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศจีนเน้นย้ำว่าประเด็นเช่นเรื่อง ภาวะสายตาสั้น โรคอ้วน และโรคกระดูกสันหลังคด เป็นปัญหาด้านสุขภาพเบื้องต้นแซงหน้าโรคติดเชื้อ นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงอัตราความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าสูงก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นักเรียนและผู้ปกครองต่างต้อนรับนโยบายนี้กันอย่างถ้วนหน้า นักเรียนคนหนึ่งในเซินเจิ้นกล่าวว่า “วิชาที่ผมชอบคือวิชาพละ”

ผู้ปกครองก็เชื่อมั่นว่าเด็ก ๆ ของพวกเขากำลังปรับปรุงสุขภาพทางกายและยังได้รับความสุขและความมั่นใจผ่านการออกกำลังกายเป็นประจำ

สุขภาพแข็งแรงขึ้นและฉลาดยิ่งขึ้น

“ผู้ปกครองและโรงเรียนให้ความสำคัญกับวิชาพละมากขึ้น” เสิ่น ฮองเหวิน ครูพละในเซี่ยงไฮ้กล่าวและเสริมว่า “นอกเหนือจากเกรดแล้ว สังคมในปัจจุบันให้ความสำคัญกับทั้งความสำเร็จทางวิชาการและการมีร่างกายที่มีสุขภาพดี”

เสิ่น กล่าวเสริมว่า การเกิดขึ้นของสถาบันฝึกกีฬาหลายแห่ง สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับที่เพิ่มขึ้นว่าผลการเรียนและการมีสุขภาพที่ดีมีความสำคัญเท่าเทียมกัน

นักการศึกษายืนยันว่ากีฬาไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ แต่เป็นการเพิ่มความสามารถด้านความรู้ความเข้าใจและความยืดหยุ่นทางจิตใจ

จู หง รองผู้อำนวยการโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในไห่หนานกล่าวว่า “เกมช่วงพักและกิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสมไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาความสามารถในการคิดและนวัตกรรมอีกด้วย”

การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายไม่เพียงแต่ส่งเสริมสุขภาพเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นวิธีสำคัญในการพัฒนาสมองอีกด้วย หวง เจิ้นหมิน นักวิเคราะห์วิชาพละของสถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาเซินเจิ้น กล่าว

ตอบรับกับความท้าทาย

ในช่วงต้นปี 2564 กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้แนะนำว่า “โรงเรียนที่มีทรัพยากรเพียงพอควรจัดชั้นเรียนพละ 1 คาบเรียนต่อวัน” และ “ให้นักเรียนออกกำลังกายในโรงเรียนหนึ่งชั่วโมง และนอกโรงเรียนอีกหนึ่งชั่วโมงในแต่ละวัน”

อย่างไรก็ตาม การดำเนินตามนโยบายดังกล่าวก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น เวลาและพื้นที่ที่จำกัด สิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาไม่เพียงพอ และการขาดแคลนครูพละ

เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรครู จีนได้ขยายการลงทะเบียนนักเรียนที่เชี่ยวชาญด้านพละในโครงการปลูกฝังครูหลายโครงการ ปักกิ่งยังอนุญาตให้โรงเรียนจ้างโค้ชและนักกีฬาที่เกษียณแล้วเป็นครูพละนอกเวลาได้

เซินเจิ้นก่อตั้งกลไกสองทางระหว่างโรงเรียนและสถานที่เล่นกีฬาสาธารณะ นักเรียนสามารถใช้สถานที่สาธารณะในช่วงเวลาเรียนได้ ในขณะที่ภาคสาธารณะสามารถใช้พื้นที่กีฬาของโรงเรียนในช่วงวันหยุดได้ แก้ปัญหาพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับทั้งสองแห่ง

ในแผนระดับชาติที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย และสร้างระบบการศึกษาที่เข้มแข็งภายในปี 2578 ทางการได้เน้นย้ำอีกครั้งว่า “นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามีการออกกำลังกายอย่างน้อยสองชั่วโมงทุกวัน” เพื่อควบคุมอัตราสายตาสั้นและโรคอ้วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรงเรียนหลายแห่งพยายามจัดหลักสูตรวิชาพละคุณภาพสูงให้กับนักเรียนภายใต้เวลาและสถานที่ที่มี โดยมุ่งเน้นเพื่อเสริมสร้างความเร็ว ความคล่องตัว ความแข็งแกร่ง และความอดทนให้กับนักเรียน