จีนตอบโต้มาตรการภาษีสหรัฐฯ เพื่อปกป้องระบบการค้าที่มีกฎเกณฑ์
ตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือเทียนจิน ทางตอนเหนือของจีน ภาพถ่ายจากโดรนเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 (ซินหัว)
การที่จีนขึ้นภาษีเพิ่มเติมสำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เป็น 84% เริ่มมีผลในเวลา 00.01 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พร้อมทั้งเพิ่มหน่วยงานจากสหรัฐฯ 18 แห่ง เข้าสู่บัญชีควบคุมการส่งออกและบัญชีรายชื่อองค์กรที่ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ นักวิเคราะห์ระบุว่า มาตรการตอบโต้ครั้งนี้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก พร้อมยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของตนและระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์
เมื่อเย็นวันพุธ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และกระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ออกประกาศเตือนความเสี่ยงสำหรับนักท่องเที่ยวและนักศึกษาที่วางแผนเดินทางไปสหรัฐฯ
การเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีที่เรียกว่า “ภาษีต่างตอบแทน” สำหรับสินค้าจีนเป็น 84% ทำให้ภาษีเพิ่มเติมที่รัฐบาลทรัมป์ขึ้นรวมแล้วอยู่ที่ 104%
คณะกรรมการภาษีศุลกากรของจีนระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพุธว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ เป็น “ความผิดซ้ำเติมความผิด” และเป็นการละเมิดสิทธิประโยชน์อันชอบธรรมของจีน บ่อนทำลายระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์ และสร้างความไม่มั่นคงให้กับระเบียบเศรษฐกิจโลก เป็น “ตัวอย่างที่ชัดเจนของลัทธิฝ่ายเดียว ลัทธิปกป้องทางการค้า และการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ”
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ของจีนยังประกาศเพิ่มหน่วยงานจากสหรัฐฯ อีก 12 แห่ง เข้าสู่บัญชีควบคุมการส่งออกของจีน เช่น บริษัท American Photonics และ BRINC Drones ซึ่งหมายความว่า ห้ามส่งสินค้าจากจีนไปยังหน่วยงานเหล่านี้ในทั้งสองวัตถุประสงค์คือทางพลเรือนและทางทหาร
ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มบริษัทจากสหรัฐฯ 6 แห่ง เข้าสู่บัญชีองค์กรที่ไม่น่าเชื่อถือของจีน เช่น Shield AI และ Cyberlux Corp ซึ่งหมายความว่าห้ามบริษัทเหล่านี้ทำการค้าหรือลงทุนในจีน
จีนยังได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับการขึ้นภาษีครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์ชี้ จีนยืนหยัดปกป้องระบบการค้าพหุภาคี
กัว ไข่ ผู้อำนวยการสถาบัน CF40 กล่าวว่า มาตรการตอบโต้ที่แข็งกร้าวของจีนพิสูจน์แล้วว่าสหรัฐฯ คาดการณ์ผิดที่คิดว่าจีนจะยอมจำนนต่อแรงกดดันด้านภาษี
แม้อาจต้องใช้เวลา แต่ท่าทีที่แน่วแน่ของจีนที่จะ “สู้จนถึงที่สุด” จะทำให้สหรัฐฯ ตระหนักว่าประเมินความอดทนของจีนต่ำเกินไป และในที่สุดจะต้องกลับมาสู่โต๊ะเจรจา “แต่ครั้งนี้จะเป็นการเจรจาตามเงื่อนไขของจีน ไม่ใช่เงื่อนไขของสหรัฐฯ” กัวกล่าว
หลิน เมิ่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ กล่าวว่า มาตรการของจีนสะท้อนการต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมของสหรัฐฯ และย้ำเจตนารมณ์ในการรักษาระบบการค้าโลกที่ยุติธรรมและมีกฎเกณฑ์
หลี ไห่ตง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบุว่า สหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองภายในและเตรียมรับมือการเลือกตั้งกลางเทอมที่กำลังจะมาถึง
ขณะที่ PwC บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ชี้ให้เห็นว่า ภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ เสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านเขตการค้าเสรีและข้อตกลงทางการค้า เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน
ซู เจี้ยน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ แนะนำว่า บริษัทจีนควรปรับกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยง เช่น ปรับเปลี่ยนคู่ค้า จัดการวงจรการสั่งซื้อใหม่ และเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน เสริมสร้างการสื่อสารกับคู่ค้าจากตลาดสหรัฐฯ และเตรียมพร้อมสำหรับกลไกการตั้งราคาและความมั่นคงทางห่วงโซ่ในอนาคต