บริษัทจีนเปิดตัวหุ่นยนต์ AI สำหรับงานประจำวัน
หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์เชิงกายภาพ (Embodied AI) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา เนื่องจากความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ดึงดูดความสนใจจากวงกว้าง ระบบเหล่านี้เน้นการทำงานในโลกจริง แทนที่จะเป็นเพียงความสามารถทางดิจิทัลล้วน ๆ
โดยเฉพาะในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีนี้ โดย ณ สิ้นปี 2567 มีบริษัทประมาณ 210 แห่งที่เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ Embodied AI มาตั้งฐานการผลิตในเมืองนี้
หุ่นยนต์พัฒนาประสาทสัมผัส “การจับต้อง” เพื่อจัดการวัตถุบอบบาง
หุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นในห้องทดลองของบริษัท PaXini Technology ในเซินเจิ้น สามารถเก็บสตรอว์เบอร์รีได้อย่างแม่นยำ โดยออกแรงเพียงเล็กน้อยที่พอที่จะหยิบผลไม้ชนิดบอบบางได้โดยไม่ทำให้เสียหาย
สวี จิ้นเฉิง ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท PaXini Technology กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ หุ่นยนต์สามารถมองเห็นและได้ยิน แต่ไม่สามารถรู้สึกถึงโลกหรือควบคุมแรงจับผ่านการสัมผัสได้”
ความก้าวหน้าของบริษัทในด้านเซ็นเซอร์สัมผัสช่วยให้หุ่นยนต์สามารถตีความสภาพแวดล้อมทางกายภาพได้ โดยมือของหุ่นยนต์จะมีเซ็นเซอร์สัมผัสความละเอียดสูงเกือบ 1,000 ตัว ที่เก็บข้อมูล 15 แบบขณะสัมผัสกับวัตถุ เช่น แรงกด การลื่นไถล และพื้นผิว เซ็นเซอร์เหล่านี้มีความไวสูงจนสามารถตรวจจับน้ำหนักที่แตกต่างกันเพียงไม่กี่เมล็ดข้าวได้
สถานะของเซินเจิ้นในฐานะศูนย์กลางการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ช่วยให้บริษัทหุ่นยนต์เข้าถึงชิ้นส่วนสำคัญได้ง่าย ตั้งแต่เซ็นเซอร์สัมผัส, ระบบตรวจจับแสงและวัดระยะ LiDAR ไปจนถึงมอเตอร์เซอร์โวและมือหุ่นยนต์เฉพาะทาง
สวีกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ เมื่อเราทำการวิจัยและพัฒนาในต่างประเทศ ชิ้นส่วนส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area)
การอยู่ใกล้ผู้ผลิตช่วยย่นเวลาการจัดซื้อของ PaXini อย่างมาก “จากเดิมที่ใช้เวลา 3 เดือน ตอนนี้เหลือเพียง 1-2 สัปดาห์” สวีกล่าวพร้อมเสริมว่า การส่งออกเซ็นเซอร์สัมผัสของบริษัทพุ่งสูงขึ้นในปี 2567 ส่วนใหญ่ใช้ในระบบอัตโนมัติของโรงงานและหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์
โมเดล AI ช่วยหุ่นยนต์ให้สามารถพับผ้าได้
การพับผ้าเป็นงานที่ท้าทายสำหรับหุ่นยนต์มากกว่าการยกกล่องหนัก เพราะผ้าจะเปลี่ยนรูปทรงเมื่อถูกหยิบขึ้นมา ทำให้ระบบรับรู้และการควบคุมซับซ้อน
บริษัท X Square Robot ในเซินเจิ้น แก้ปัญหานี้ด้วยการใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่เชิงกายภาพ (Embodied Large Language Models) ทำหน้าที่เป็นสมองอัจฉริยะ หุ่นยนต์สองแขนของบริษัทสามารถประเมินการเปลี่ยนแปลงรูปทรงผ้าแบบเรียลไทม์และปรับแรงจับได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถพับเสื้อผ้าที่กระจายอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หวัง เฉียน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ X Square Robot กล่าวว่าโมเดลหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์เชิงกายภาพช่วยให้หุ่นยนต์รับรู้ ตัดสินใจ และลงมือทำได้ด้วยตัวเอง ทำงานกับงานที่ซับซ้อนและบอบบางได้อย่างคล่องแคล่ว
หุ่นยนต์เหล่านี้ไม่ต้องเขียนโปรแกรมหรือควบคุมระยะไกล หลังจากดูตัวอย่างเพียงไม่กี่ครั้ง พวกมันสามารถเรียนรู้การจัดเรียงวัตถุ เช่น ถ้วยและจาน ในรูปทรง ขนาด และทิศทางต่าง ๆ ได้ โดยเลียนแบบการเรียนรู้โดยสัญชาตญาณของมนุษย์
หวังกล่าวว่า “ในอนาคต เราหวังว่าหุ่นยนต์จะเรียนรู้จากตัวอย่างเพียงครั้งเดียว หรือแม้แต่เข้าใจคำสั่งและปฏิบัติงานได้เอง” พร้อมเปิดเผยว่า “ตอนนี้เรากำลังดึงดูดผู้มีความสามารถระดับโลก และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเซินเจิ้นอย่างเต็มที่ รวมทั้งในเวลาเพียงปีกว่า บริษัทสามารถระดมทุนได้ 6 รอบ รวมมูลค่าหลายร้อยล้านหยวน”
หุ่นยนต์ตรวจการณ์อัตโนมัติ ลดภาระงานเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
ณ เวลาตีหนึ่ง ที่เขตเป่าอันในเซินเจิ้น หุ่นยนต์สุนัข 4 ขาออกเดินตรวจการณ์จากห้องยามและสามารถเคลื่อนที่ผ่านพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบ แปลงดอกไม้ และขั้นบันไดได้อย่างมั่นคง เพื่อตรวจสอบจุดอับและระบุความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในชุมชน
หยาง หยาง รองผู้จัดการทั่วไปของบริษัทบริการอสังหาริมทรัพย์ในเซินเจิ้น กล่าวว่า “ตั้งแต่ใช้หุ่นยนต์สุนัข เราลดเวลาตรวจการณ์ตอนกลางคืนของมนุษย์ลง 4 ชั่วโมง และสามารถครอบคลุมจุดบอดของกล้องวงจรปิดและพื้นที่ที่รถล้อเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะที่ต้องใช้ความสามารถในการปีนบันได”
เฉา เวยจิ้ง ผู้ก่อตั้งบริษัท Shenzhen FireDog Intelligent Electronics Technology เปิดเผยว่า ราคาหุ่นยนต์ตัวนี้สูงกว่า 300,000 หยวน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น บริษัทจึงให้เช่ารายเดือนในราคาหลายพันหยวนแทนการขายตรง
นครเซินเจิ้นกำลังนำหุ่นยนต์ Embodied AI ไปใช้ในหลายภาคส่วน แม้ว่าการนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายยังคงต้องใช้เวลา แต่โครงการนำร่องกำลังเร่งก่อตัวขึ้น
นอกจากนี้ เซินเจิ้นยังมีการเปิดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนา AI และหุ่นยนต์ในหลายสถานการณ์ หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจต่างจัดสภาพแวดล้อมทดลองจริงสำหรับการใช้งานด้านสุขอนามัย การตอบสนองเหตุฉุกเฉิน การแพทย์ และการดูแลผู้สูงอายุ
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็เปิดโอกาสทดสอบในโรงงาน เช่น การควบคุมคุณภาพ สายการผลิตและโลจิสติกส์ เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไปใช้เชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค