การปฏิวัติกฎหมายสิทธิบัตร: การเดินทาง 40 ปีของจีนจากการปรับตัวสู่ความก้าวหน้า

(People's Daily Online)วันจันทร์ 28 เมษายน 2025

ระบบสิทธิบัตรซึ่งเน้นย้ำถึงความเป็นเจ้าของและผลประโยชน์ส่วนบุคคลแต่เพียงผู้เดียว เคยถูกชาวจีนบางส่วนมองว่าไม่สอดคล้องกับค่านิยมสังคมนิยมของการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ประชาสัมพันธ์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติประจำปีที่กำลังจัดขึ้น ซึ่งเป็นแคมเปญระดับประเทศที่ป้ายโฆษณาตามท้องถนน แพลตฟอร์มสื่อ และโฆษณาสาธารณะต่างเน้นย้ำถึงความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา วันครบรอบ 40 ปีของกฎหมายสิทธิบัตรจีนจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์

กฎหมายสิทธิบัตรซึ่งเป็นประเภททรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญที่สุดนั้น ถือว่าเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จากการปรับปรุงแก้ไขในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุครบ 40 ปี โดยกฎหมายดังกล่าวได้พัฒนาจากการปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบระหว่างประเทศอย่างเฉื่อยชาไปสู่การตอบสนองความต้องการภายในประเทศอย่างแข็งขัน ซึ่งให้การสนับสนุนทางกฎหมายที่แข็งแกร่งสำหรับนวัตกรรมอิสระของประเทศ

ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าในการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ของเศรษฐกิจจีนจากขนาดใหญ่ไปสู่ความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนากำลังผลิตที่มีคุณภาพใหม่ๆ กฎหมายสิทธิบัตรจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและปกป้องความก้าวหน้า

การปรับตัวสู่กฎระเบียบระหว่างประเทศ

ต้นกำเนิดของกฎหมายสิทธิบัตรจีนนับได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2521 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการปฏิรูปและเปิดประเทศ เมื่อรัฐบาลกลางตัดสินใจจัดตั้งระบบสิทธิบัตรขึ้นในเวลานั้น คำว่า “สิทธิบัตร” ยังเป็นสิ่งที่คนจีนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย

ทีมร่างกฎหมายซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การค้า และเทคโนโลยี ได้ศึกษาระบบสิทธิบัตรจากกว่า 30 ประเทศ หลังการศึกษายาวนานหลายปีและการปรับปรุงถึง 25 ฉบับ ในที่สุดกฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรกของจีนก็ได้รับการประกาศใช้ใน พ.ศ. 2527

ในขณะนั้น เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบแผนยังไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ของประชาชนยังมีจำกัด กระบวนการร่างกฎหมายจึงก่อให้เกิดข้อถกเถียง บางคนกังวลว่าระบบสิทธิบัตรอาจไม่สอดคล้องกับหลักการสังคมนิยม

แต่ข้อสงสัยเหล่านั้นก็ตอบด้วยภาพเข้าคิวยาวเหยียดของผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตรที่หน้าสำนักงานสิทธิบัตรแห่งชาติในวันแรกที่มีผลบังคับใช้กฎหมาย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2528 โดยมีคำขอสิทธิบัตรมากกว่า 3,400 รายการภายในวันเดียว ซึ่งถือเป็นสถิติการยื่นคำขอในหนึ่งวันที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์สิทธิบัตร

หวัง ฉี นักวิชาการด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและธุรกิจปักกิ่งระบุว่า การแก้ไขกฎหมายสองครั้งแรกเมื่อปี 2535 และ 2543 ซึ่งรวมถึงการขยายอายุและขอบเขตการคุ้มครองสิทธิบัตรมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมและเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วม WTO ของจีน

ในช่วงเวลานั้น การเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นข่าวใหญ่และจีนกำลังเผชิญความกดดันอย่างหนักในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์และสินค้าลอกเลียนแบบ

แต่ในเวลาเดียวกัน ประชาชนจีนก็เริ่มตระหนักและเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับ IP มากขึ้น โดยมีการจัดสัมมนา การบรรยาย และการฝึกอบรมเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาทั่วประเทศ

ในปี 2537 จีนเข้าร่วมสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรภายใต้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และในปี 22543 จำนวนคำขอสิทธิบัตรในจีนทะลุ 1 ล้านรายการ

หลง ชวนหง หัวหน้าสำนักงานกฎหมายสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า CCPIT (สำนักงานสิทธิบัตรแห่งแรกของจีน) เล่าถึงอดีตว่า “ในช่วงแรกหลังกฎหมายมีผล บริษัทต่างชาติเป็นลูกค้าหลัก”

ทนายความด้านสิทธิบัตรกล่าวรายงานในข่าวของ China IP News ว่า “หลังจีนเข้า WTO ในปี 2544 บริษัทจีนเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม ส่งผลให้คำขอสิทธิบัตรภายในประเทศพุ่งสูงขึ้น และอุตสาหกรรมตัวแทนสิทธิบัตรเติบโตอย่างรวดเร็ว”

ก้าวกระโดดสู่การพัฒนาทางนวัตกรรม

หม่า อี้เต๋อ ศาสตราจารย์จากคณะทรัพย์สินทางปัญญามหาวิทยาลัยสถาบันวิทยาศาสตร์จีนระบุว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งที่ 3 ในปี 2551 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

หม่ากล่าวกับซินหัวว่า การแก้ไขครั้งนี้ไม่ใช่แค่การทำตามมาตรฐานสากลแต่เป็นการปรับปรุงระบบด้วยตนเอง

ตั้งแต่ปี 2562 เห็นได้ชัดถึงประสิทธิภาพทางการสนับสนุนด้านกฏหมาย เช่น คดีด้านสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาภายในประเทศพุ่งขึ้นและจีนกลายเป็นผู้นำระดับโลกในการยื่นขอสิทธิบัตรทางปัญญา

ในปี 2563 มีการปรับแก้กฎหมาย ครั้งที่ 4 ชี้ให้เห็นถึงการมุ่งสร้างกรอบกฎหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงและความท้าทายต่าง ๆ ของประเทศ โดยจุดเด่นสำคัญคือมีการเพิ่มบทลงโทษแบบทวีคูณ (สูงสุด 5 เท่าของความเสียหาย) ในกรณีละเมิดสิทธิบัตรโดยเจตนา และปรับเพดานค่าชดเชยสูงสุดเป็น 5 ล้านหยวน (ประมาณ 25 ล้านบาท)

กฎหมายสิทธิบัตรจะยังคงได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากสัปดาห์สิทธิบัตร (IP Week) ในปีนี้เน้นด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงเกิดการถกเถียงเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างโดย AI และการกำกับดูแลทรัพย์สินทางปัญญา ศาสตราจารย์เฟิง เสี่ยวชิง จากมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายจีนกล่าวว่า “กฎหมายต้องปรับตัวให้เข้ากับการปฏิวัติเทคโนโลยีใหม่ ๆ”

ในการสัมมนาเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิบัตรเมื่อวันจันทร์ เซิน ชางหยีว์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีนเน้นว่า การครบรอบ 40 ปีถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ

“40 ปีถือเป็นช่วงที่สำคัญ กฎหมายสิทธิบัตรจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่ระดับใหม่ต่อไป” เซิน กล่าว


ผู้เข้าชมนิทรรศการกำลังเล่นหมากรุกกับหุ่นยนต์ในระหว่างการประชุมฟอรั่มจงกวนชุน (Zhongguancun Forum) 2025
ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568