บทวิเคราะห์ : ทำไมจีนจึงยืนหยัดลดการปล่อยคาร์บอนโดยไม่ลังเล?
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาบางประเทศประกาศว่าอาจจะยกเลิกหรือชะลอเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งประกาศถอนตัวออกจาก“ข้อตกลงปารีส”อีกครั้งเมื่อต้นปีนี้ และยังมีแผนจะยกเลิกข้อจำกัดการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด ตรงกันข้าม ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนกลับยืนหยัดในการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมั่นคง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ทำไมต้องลดคาร์บอน?
“การลดคาร์บอน” หมายถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ เป็นต้น ในจำนวนนี้คาร์บอนไดออกไซด์เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์อย่างมาก จึงมักถูกใช้เป็น“ตัวแทน”ของก๊าซเรือนกระจก
เหตุผลโดยตรงที่จีนยืนหยัดในการลดคาร์บอนก็คือ ก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งคุกคามการดำรงอยู่ของมนุษย์และความต่อเนื่องของอารยธรรม
องค์การสหประชาชาติได้ออกคำเตือนหลายครั้งว่า การเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับภัยพิบัติทางสภาพอากาศซึ่งนับวันเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ภาวะโลกร้อนกำลังเร่งเร็วขึ้น ตามข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ปี 2024 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีบันทึกมา เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก คุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ ไม่มีประเทศใดสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้เลย
เหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้นในการที่จีนยึดมั่นในเป้าหมายการลดคาร์บอน มีทั้งด้านระหว่างประเทศและในประเทศ
ระดับระหว่างประเทศ การลดคาร์บอนเป็นความต้องการเชิงรุกของจีนในการแบกรับความรับผิดชอบในฐานะประเทศใหญ่ และส่งเสริมการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ ความพยายามของจีนในการลดคาร์บอนมีส่วนช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้ประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสามารถช่วย“เพิ่มอิฐเติมกระเบื้อง”ในการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน ในฐานะผู้มีส่วนร่วม ผู้สร้างคุณูปการ และผู้นำทางที่สำคัญในการสร้างสรรค์อารยธรรมเชิงนิเวศทั่วโลก ประเทศจีนได้มีส่วนร่วมอย่างลึกในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมระดับโลก และได้เพิ่มพูนอำนาจการออกเสียงและอิทธิพลในระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
ระดับภายในประเทศ การลดคาร์บอนเป็นประโยชน์ต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีระดับสูงขึ้น ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่นับวันเพิ่มมากขึ้นในการมีสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่สวยงาม และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ปรับโครงสร้างพลังงานอย่างจริงจัง ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน แต่ยังลดมลพิษ เช่น ฝุ่นละออง PM2.5 ด้วย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของถ่านหินในการบริโภคพลังงานของจีนลดลง 12.6 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2023 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของจีนมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ จีนได้สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุด ครบวงจรที่สุด และมีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลก โดยมีกำลังการผลิตทั้งโพลีซิลิคอน แผ่นซิลิกอน เซลล์แสงอาทิตย์ และแผงโซลาร์เซลล์ ต่างคิดเป็นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของโลก ขณะที่กำลังการผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังลมก็ครองส่วนแบ่งตลาดโลกถึง 60 เปอร์เซ็นต์
ด้วยเหตุนี้ จีนจึงยังคงออกนโยบายและมาตรการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อลดคาร์บอน ล่าสุด กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมกับกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ได้ร่วมกันออก “แนวปฏิบัติในการเสริมสร้างวัฒนธรรมเชิงนิเวศอีกระดับ” ซึ่งได้เสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรม 10 ข้อ เพื่อสร้างวัฒนธรรมเชิงนิเวศที่ถือแนวคิดคุณค่าทางนิเวศเป็นมาตรฐาน ซึ่งย่อมจะช่วยปลูกฝังแนวคิดการลดคาร์บอนให้หยั่งรากลึกในสังคมจีนยิ่งขึ้น
กล่าวโดยสรุป แม้บางประเทศจะล้มเลิกหรือลังเลเรื่องการลดคาร์บอน แต่คำมั่นสัญญาและความพยายามของจีนในการลดคาร์บอนนั้นจะไม่มีวันลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะ “ความเป็นสีเขียว” คือพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพสูง และการลดคาร์บอนคือข้อกำหนดภายในที่จำเป็นต่อการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูง ในขณะที่ลดคาร์บอน จีนก็บรรลุการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาไปพร้อมกัน การยืนหยัดลดคาร์บอนอย่างไม่ลังเลของจีนไม่เพียงแต่เป็นผลดีต่อตัวเอง แต่ยังเป็นผลดีต่อโลกทั้งใบอีกด้วย