ถ้ำหินอวิ๋นกังเข้าถึงผู้คนมากขึ้นผ่านนวัตกรรมดิจิทัล

(People's Daily Online)วันศุกร์ 27 มิถุนายน 2025

นิทรรศการศิลปะดิจิทัลในฮ่องกงที่จัดแสดงรูปปั้นพระพุทธเจ้าที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้รับคำชมเชยจากผู้เข้าชมอย่างกว้างขวาง

ตามที่โจว หยีว์เฉา ผู้แทนสถาบันกล่าว งานนิทรรศการ “พบอวิ๋นกัง:ศิลปะดิจิทัลสาธารณะ” (Meet Yungang: A Public Digital Art Exhibition) จัดโดยสถาบันวิจัยอวิ๋นกัง ในเมืองต้าถง มณฑลซานซี ทางตอนเหนือของจีน เน้นแสดงรูปปั้นจำลองขนาดเท่าคนจริง 4 ชิ้นที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ขั้นสูง

ถ้ำหินอวิ๋นกังซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก มีอายุกว่า 1,500 ปี ได้รับใบรับรองการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาข้อมูลฉบับแรกของซานซีเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการอนุรักษ์ข้อมูลดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

หลี่ ลี่หง ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ด้วยดิจิทัลของสถาบันกล่าวว่า การสนับสนุนข้อมูลอย่างครอบคลุมมีความจำเป็นต่อการปกป้องโบราณวัตถุที่เคลื่อนย้ายไม่ได้

หลี่ ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไท่หยวน กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงแนวทางในการอนุรักษ์วัฒนธรรม

“ในช่วงแรกๆ โมเดลถ้ำสามมิติขาดข้อมูลพื้นผิว ซึ่งต้องใช้การจัดตำแหน่งโมเดลข้อมูลกับภาพถ่ายจริงด้วยมือ” หลี่กล่าวพร้อมเสริมว่า อุปกรณ์รวบรวมข้อมูลอันซับซ้อนและซอฟต์แวร์สร้างแบบจำลองขั้นสูงทำให้กระบวนการเก็บรักษาข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมาก


ทัศนียภาพของถ้ำหินอวิ๋นกังในเมืองต้าถง มณฑลซานซี ทางตอนเหนือของจีน (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

หลี่กล่าวว่า “เราเพียงป้อนข้อมูลที่รวบรวมได้ลงในโมเดล จากนั้นโมเดลจะถูกสร้างสีสันด้วยความแม่นยำและความเร็วที่สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ”

หลี่ตั้งข้อสังเกตว่า การทำแผนที่ถ้ำแห่งหนึ่งเคยใช้เวลาสามถึงหกเดือน แต่ปัจจุบันกระบวนการนี้ใช้เวลาเพียงสองถึงสามเดือนเท่านั้น

การเร่งกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของศูนย์คุ้มครองดิจิทัลภายใต้สถาบันวิจัยอวิ๋นกัง ซึ่งเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ขั้นสูงแห่งแรกของจีนสำหรับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมสร้างเสร็จเมื่อปี 2562

หลี่กล่าวว่า “การรวบรวม การจัดเก็บ และการใช้งานข้อมูลทั้งหมดต้องได้รับการสนับสนุนจากศูนย์คอมพิวเตอร์”

ศูนย์ได้รวบรวมข้อมูลสำหรับถ้ำหินอวิ๋นกังเสร็จเรียบร้อยแล้วถึงร้อยละ 80 โดยส่วนใหญ่ดำเนินการภายใน 5 ปีที่ผ่านมา ความแม่นยำได้พัฒนาจาก 1 เซนติเมตรเป็น 1 มิลลิเมตร และตอนนี้เป็น 0.03 มิลลิเมตร ทำให้เกิดคลังข้อมูลดิจิทัลที่มีความละเอียดถึง 8K

เทคโนโลยีดิจิทัลไม่เพียงแต่ช่วยให้เก็บรักษาโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมได้อย่างถาวรเท่านั้น แต่ยังทำให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นอีกด้วย

โจว หยีว์เฉา ผู้มุ่งเน้นจัดนิทรรศการถ้ำหินอวิ๋นกังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กล่าวว่า การจัดแสดงที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่มีความแม่นยำสูงช่วยให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสกับพื้นผิวและรายละเอียดต่างๆ โดยเอาชนะอุปสรรคแบบเดิมๆ ที่ขัดขวางการโต้ตอบโดยตรงกับโบราณวัตถุ

ถ้ำหินอวิ๋นกังใช้การประกอบชิ้นส่วนแบบแยกส่วนเพื่อสร้างแบบจำลอง 3 มิติขนาดเท่าของจริง ซึ่งสามารถถอดแยกชิ้นส่วนและเคลื่อนย้ายได้ง่าย ช่วยให้ถ้ำเหล่านี้สามารถแบ่งปันผลงานศิลปะกับผู้คนทั่วโลกได้

เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้ผู้คนสัมผัสกับโบราณวัตถุในถ้ำหินอวิ๋นกังผ่านทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ เช่น ความจริงเสมือน (VR) และความจริงผสม (MR)

ปัจจุบันแบบจำลองของถ้ำหินอวิ๋นกังปรากฏให้เห็นในสถานที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ำจำลองที่ 3 ที่สร้างด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติขนาดใหญ่แห่งแรกของโลกจัดแสดงอยู่ที่ City Media Plaza ในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ทางตะวันออกของจีน


ผู้เยี่ยมชมกำลังชมแบบจำลองพระพุทธรูปจากถ้ำหินอวิ๋นกัง (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

แบบจำลองที่คล้ายกันนี้สามารถพบได้ที่มหาวิทยาลัยวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรมปักกิ่ง รวมถึงในพิพิธภัณฑ์ในเซินเจิ้นและหอศิลป์ในเซี่ยงไฮ้ ความคิดริเริ่มทางดิจิทัลเหล่านี้ช่วยนำศิลปะพุทธโบราณมาสู่สายตาของผู้คนในปัจจุบันทั้งในจีนและทั่วโลก