บทสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตไทย: 50 ปีทองแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน (2/2)
เนื่องใน พ.ศ. 2568 เป็นวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน สำนักข่าวหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี่ออนไลน์ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สถานเอกอัครราชทูต กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ออนไลน์ (พีเพิลส์
เดลี่ออนไลน์)
ท่ามกลางความท้าทายระดับโลก อนาคตความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน จาก 50 ปีสู่ศตวรรษแรกควรเป็นอย่างไร
เมื่อเผชิญกับความท้าทายระดับโลก เช่น บางประเทศใช้มาตรการภาษีศุลกากร ละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก เกิดลัทธิปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างบ่อยครั้ง ไทยและจีนควรเสริมสร้างความร่วมมือและมีบทบาทเชิงบวก โดยท่านทูตฉัตรชัย กล่าวว่า ไทยเชื่อมั่นในระบอบการค้าพหุภาคี ยึดมั่นในการค้าเสรีในการทำการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นเป็นจุดที่เรายืนหยัดและอยากส่งเสริมในกรอบการค้าการลงทุนแบบนี้ และสิ่งที่เกิดขึ้น ไทยก็ต้องพยายามปรับตัว เจรจา อย่างไรก็ดี “ผมคิดว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ไทยปรับตัวเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ได้” จีนยังเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับต้น ๆ ในโลกในปัจจุบัน และมีปริมาณการค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในเรื่องการเติบโตของจีน ไทยจะปรับตัวเรื่องการค้ากับจีนให้สมดุลมากขึ้น สิ่งที่คาดหวังว่าจะมีความร่วมมือกับจีน คงเป็นเรื่องของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทำอย่างไรที่ไทยจะนำเข้า-ส่งออกกับประเทศจีน รวมถึงในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น ทดแทนประเด็นปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ จากนอกภูมิภาค ซึ่งจีนก็จะมีบทบาทสำคัญที่สุดที่จะช่วยประเทศต่าง ๆ ให้สามารถเจริญเติบโตได้ท่ามกลางกระแสของความขัดแย้งในเรื่องของการค้าในปัจจุบัน
สถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันกับบทบาทความร่วมมือระหว่างไทย-จีน
นอกจากปัญหาจากปัจจัยภายนอกภูมิภาคแล้ว สถานการณ์ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาคก็เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภูมิภาค
ในต้นปีที่ผ่านมา ไทย จีนและประเทศเพื่อนบ้านได้ร่วมกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน เช่น การพนันออนไลน์และการฉ้อโกง และประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ท่านทูตฉัตรชัยกล่าวถึงในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบัน อาชญากรรมข้ามชาติเป็นเรื่องไร้พรมแดน ประเทศหนึ่งประเทศเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นที่มาของการต้องร่วมมือกันในประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามจุดหลัก ๆ ที่ต้องร่วมมือกันคือ “ประเทศต้นทาง” เช่น คนนั้นมาจากประเทศไหน จะช่วยกันป้องกัน ปราบปรามหรือรณรงค์ไม่ให้เกิดการถูกชักชวนได้อย่างไร “ประเทศกลางทาง” อาจจะเป็นประเทศที่เป็นทางผ่าน โดยทำอย่างไรไม่ให้คนเหล่านี้มาผ่านทาง ซึ่งไทยก็อยู่ในสถานการณ์นี้ เราเป็นทางผ่านของเหยื่อ ของหลาย ๆ ปัจจัยที่นำไปสู่อาชญากรรมข้ามชาติ และ “ประเทศปลายทาง” ที่เป็นจุดหรือแหล่งของอาชญากรรมนั้น ๆ ทั้งสามประเทศต้องร่วมมือกัน รณรงค์ แก้ไข ภายใต้กรอบกฎหมายของแต่ละประเทศ และเชื่อว่า ถ้าในสามกลุ่มประเทศนี้เข้มแข็งและมีความร่วมมือที่ใกล้ชิด ปัญหาเหล่านี้จะสามารถแก้ไขลุล่วงได้ จีนก็แสดงให้เห็นว่าได้เข้ามามีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว
นอกจากนี้ ปัญหาความไม่มั่นคงและเสถียรภาพของสถานการณ์ในเมียนมาในปัจจุบัน ในฐานะที่ไทยและจีนต่างเป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญของเมียนมา บทบาทเชิงบวกของจีนและไทยในการสนับสนุนการรักษาเสถียรภาพและคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเป็นอย่างไร
ท่านทูตฉัตรชัยกล่าวแสดงความเห็นว่า “ไทยและจีนต่างก็เป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญของเมียนมาเพราะเรามีพรมแดนติดต่อกัน ถือเป็นประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ผมคิดว่าทั้งไทยและจีนต่างมีนโยบายท่าทีเดียวกันคือ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นซึ่งเป็นสิ่งที่เรายึดมั่นในการช่วยเหลือเมียนมา ในการส่งเสริมให้เมียนมาหาทางออก ในการแก้ปัญหาที่เป็นของเมียนมาเอง เพื่อนำสู่ความสงบและความเจริญของประเทศเขาเอง ซึ่งสิ่งนี้เป็นหัวใจ ต้องเป็น Myanmar-led, Myanmar-owned เราเชื่อว่าด้วยแนวทางนี้จะนำไปสู่ทางออกของรัฐบาลพม่าที่มีเสถียรภาพมากขึ้น”
เน้นย้ำยึดหลักการนโยบายจีนเดียว
จีนและไทยสนับสนุนผลประโยชน์หลักและประเด็นสำคัญซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ในระหว่างการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีไทยในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมโดยระบุว่า จีนสนับสนุนให้ไทยดำเนินแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพภายในประเทศของตน และสนับสนุนให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นในกิจการระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ประเทศไทยย้ำถึงการยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวอย่างแน่วแน่ ยอมรับว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวที่เป็นตัวแทนของจีน และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีนที่ไม่สามารถโอนให้ใครได้ ไม่สนับสนุนการเรียกร้องเอกราชของไต้หวัน และสนับสนุนนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน
ท่านทูตกล่าวความคิดเห็นต่อประเด็นข้างต้นว่า “นโยบายจีนเดียว” เป็นท่าที เป็นนโยบาย เป็นสิ่งที่ประเทศไทยยึดมั่นมาโดยตลอด ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่นายกฯ ของไทยได้ย้ำในการเยือนครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นการย้ำท่าทีที่ประเทศไทยมีในเรื่องนี้อย่างมั่นคง ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ไทยได้แสดงท่าทีนี้มาโดยตลอดและได้ปฏิบัติตามสิ่งเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสิ่งที่เราได้ตกลงกันแล้วในเวทีระหว่างประเทศ และยังเป็นมติคณะรัฐมนตรีด้วยว่าเราจะยึดมั่นให้ทุกหน่วยงานของไทยปฏิบัติตาม มติ ครม. แสดงให้เห็นว่าเรายึดมั่นต่อนโยบายจีนเดียวในการปฏิสัมพันธ์กับจีน เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า เรายังมั่นคงและในอนาคตก็ยังเป็นสิ่งที่เรายึดมั่นต่อไป
รถไฟความเร็วสูงจากมณฑลต่าง ๆ จอดที่สถานีรถไฟอู่ฮั่นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ตอนกลางของประเทศจีน ภาพถ่าย
เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 (cfp)
ความประทับใจในการเดินทางเยือนเมืองต่าง ๆ ในจีน
ท่านทูตฉัตรชัยกล่าวว่า “ผมมาประจำการณ์ปีกว่า ๆ จริง ๆ ประเทศจีนกว้างใหญ่มาก พื้นที่ก็เกือบ 20 เท่าของประเทศไทย ได้ไปเยือนบางมณฑลแล้ว แต่ยังเหลืออีกหลายมณฑลมากที่อยากไปแต่ยังไม่ได้ไป ก็อยู่ในช่วงที่หาโอกาสไปพบปะผู้นำมณฑล พบปะเอกชนไทยในมณฑลนั้น ๆ (ถ้ามี) รวมถึงไปดูศักยภาพของมณฑลด้วยว่า มีอะไรที่เราจะช่วยในแง่ของภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริม ช่วยเติมเต็มให้กับเอกชนไทย และมีปัญหาอะไรที่ทางภาครัฐจะเข้าไปช่วยเจรจาเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ ซึ่งเป็นจุดหลักที่พยายามจะไปในมณฑลต่าง ๆ”
ท่านทูตฉัตรชัยกล่าวถึงความประทับใจในสองเรื่องหลักหลังจากมาประจำการณ์ที่จีนว่า “อันดับแรกคือ ความต่อเนื่องของรัฐบาลในนโยบายที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผมคิดว่านโยบายที่ถ่ายทอดมาในหลายสิบปีก่อให้เกิดผลในปัจจุบัน จากจีนที่ในช่วงแรก ๆ ผมคิดว่ายังไม่เติบโตนักจนปัจจุบันก็มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด เพราะฉะนั้น ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นเครดิตของนโยบายที่ต่อเนื่องของจีน เรื่องที่สองที่ประทับใจคือ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟที่มีความทันสมัย สะดวกสบาย ตรงเวลา ไม่ว่าจะเป็นรถไฟธรรมดาหรือรถไฟความเร็วสูงที่มีความทันสมัยมาก ซึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชน ประเทศอันกว้างใหญ่ ประชาชนจำนวนมากมายเป็นพันกว่าล้าน สามารถทำให้ประชาชนเหล่านี้เดินทางหากันได้อย่างสะดวก ไปมาหาสู่กันได้ ไม่จำเป็นต้องย้ายเมือง หรือย้ายตัวเองไปอยู่ในเมือง ๆ นั้นก็สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการพัฒนาเรื่องโครงข่ายการเดินทางทางรถไฟ ถือเป็นความประทับใจ”