บทสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตไทย: 50 ปีทองแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน (1/2)
เนื่องใน พ.ศ. 2568 เป็นวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน สำนักข่าวหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี่ออนไลน์ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สถานเอกอัครราชทูต กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไทย และโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการ
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518
(ภาพจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง)
ช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-จีน
ท่านทูตฉัตรชัยกล่าวว่า ไทย-จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ครบ 50 ปี พอดีในปีนี้และในเดือนนี้ด้วย ในส่วนของความสัมพันธ์ไทย-จีน ตามที่คนไทยทราบกันดี ทั้งสองประเทศมีความผูกพันกันมานานในระดับประชาชน แต่ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลมาฉลอง 50 ปีกันในปีนี้ และเท่าที่ประวัติศาสตร์ได้ดำเนินมา ท่านทูตคิดว่า 50 ปีนี้เป็นห้าสิบปีที่มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น และมีความร่วมมือที่ก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันนี้ ความสัมพันธ์ไทย-จีนเรียกว่าแนบแน่น และมีความร่วมมือที่เป็นไปในทุก ๆ ด้าน
เมื่อถามถึงจุดประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนที่น่าสนใจ ท่านทูตกล่าวว่า “ผมคิดว่ามีเยอะ แต่ถ้าจะหยิบยกมาบางเรื่อง นอกจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี พ.ศ.2518 แล้ว จุดสำคัญที่เราต้องพูดถึงสามเรื่องใหญ่ ๆ คือ การเสด็จเยือนจีนของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ในปี พ.ศ.2524 ผมคิดว่าตรงนั้นเป็นจุดที่ทำให้คนไทยจำนวนมากหันมาสนใจจีน หันมาท่องเที่ยวประเทศจีน มาศึกษาในประเทศจีน และท่านก็ได้เสด็จฯ ประเทศจีนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 50 ปีที่ผ่านมา ท่านเสด็จฯ มา 55 ครั้ง ถือว่าท่านมีความสนใจ และนำประเทศไทยให้มีความผูกพันกับประเทศจีน”
นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ กรุงปักกิ่ง ภาพถ่ายเมื่อวันศุกร์
ที่ 11 เมษายน 2568 (ซินหัว)
เรื่องที่สองคือ การเยือนไทยของผู้นำจีนในหลาย ๆ ช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นท่านหยาง ช่างคุน, ท่านหู จิ่นเทา, ท่านเจียง เจ๋อหมิน และล่าสุด สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ถือเป็นจุดที่ทำให้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดในระดับรัฐบาลในระดับสูงสุด
อีกเรื่องในปัจจุบันที่น่าจะกล่าวถึงอย่างมากคือ การที่สองฝ่ายมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างกันเมื่อปี พ.ศ.2567 ซึ่งท่านทูตคิดว่ามีความสำคัญเพราะปรกติในการกำหนดเรื่องวีซ่า คือการควบคุมการเดินทางไป-มาถือว่าเหมือนสองฝ่ายยังไม่ค่อยไว้ใจกันนัก แต่ว่า เมื่อสองประเทศมีความตกลงตรงนี้กันขึ้นมา ถือเป็นการยกระดับความผูกพันระหว่างประชาชนว่า ต่อไปนี้ ถ้าจะเดินทางไปมาหาสู่กันในแง่ของประชาชน ไม่มีข้อจำกัด มาเที่ยว มาหากันได้ตลอดเวลา
งานเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปีการทูตไทย-จีน
ท่านทูตฉัตรชัยกล่าวถึงงานเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปีฯ ว่า เรียกว่าเป็นปีทองของความสัมพันธ์ไทย-จีน ในปี 2568 การเฉลิมฉลองมีมาตั้งแต่ต้นปี ไม่จำกัดเฉพาะระดับรัฐบาล ยังมีการฉลองในระดับเอกชน ในระดับประชาชนมากมาย ทั้งที่ทางราชการทราบและไม่ทราบ เอกชนก็มีการจัดงานต่าง ๆ มากมาย เท่าที่เป็นระดับรัฐบาลและอยู่ในการรับรู้ ที่สำคัญคือ เรื่องการที่จีนได้อนุญาตให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวงมาประดิษฐานชั่วคราวในไทยเพื่อให้ประชาชนสักการะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองนี้ ตามสถิติ มีประชากรสามล้านคนที่ได้มากราบสักการะ ถือว่าเป็นมงคลตั้งแต่ต้นปี
นอกจากนั้น การเยือนจีนของท่านนายกฯ ไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และกำลังรอการไปเยือนไทยของท่านนายกฯ จีนในช่วงปลายปีนี้ นอกนั้นก็เป็นเรื่องของการเฉลิมฉลองต่าง ๆ ซึ่งมีมากมาย เช่น การทำโลโก้ การจัดทำของที่ระลึกต่าง ๆ รวมถึงการจัดงานเลี้ยงฉลองความสัมพันธ์ ซึ่งในแง่มุมของทางการทูตถือว่าเป็นกิจกรรมที่ปรกติต้องทำ โดยจัดทั้งสองเมือง ทั้งที่เมืองหลวงของไทย และที่ปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ซึ่งปักกิ่งเพิ่งจัดไปเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ได้รับความสนใจจากชุมชนไทยในประเทศจีนและคนจีนที่รู้จักประเทศไทย
หนึ่งในการแสดงบนเวทีในงานเทศกาลไทยที่สวนสาธารณะเฉาหยาง กรุงปักกิ่ง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2568
(ภาพจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง)
นอกจากนั้น เทศกาลไทยในปีนี้ มีการยกระดับการจัดงานและถือเป็นการเฉลิมฉลอง 50 ปีฯ ด้วย เพราะปีนี้สถานทูตฯ จัดเทศกาลไทยที่สวนเฉาหยาง ซึ่งเป็นสวนขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักของคนจีน ก็เป็นการจัดที่ได้รับการตอบรับดีอย่างมาก ให้รู้ว่าปีนี้เป็นปีสำคัญของทั้งสองประเทศ จริง ๆ และยังมีอีกกิจกรรมที่สถานทูตไทยในปักกิ่งกำลังร่วมประสานงานคือ การจัดนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์กู้กง (พระราชวังต้องห้าม) ในกรุงปักกิ่ง โดยเป็นความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์กู้กงกับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ราวเดือนพฤศจิกายน โดยจะนำเอาโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าของไทยมาจัดแสดงให้ชาวจีนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ตลอดจนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีมาแต่โบราณ เพราะฉะนั้นคนที่มาเที่ยวกู้กงก็จะมีโอกาสได้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศว่ามีมาต่อเนื่องยาวนานอย่างไร ทั้งในระดับประชาชนและระดับราชวงศ์ เป็นสิ่งที่กำลังเตรียมการ และกำลังเฝ้าคอยว่าจะเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของกิจกรรมในปีนี้
ความสัมพันธ์ไทย-จีนสู่ศตวรรษแรกผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ
เมื่อถามถึงความร่วมมือและผลลัพธ์ในการที่ไทยและจีนร่วมก่อตั้งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านเมื่อปี พ.ศ.2555 ท่านทูตฉัตรชัยกล่าวว่า การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย-จีนมีในทุกมิติ ตามชื่อที่บอก โดยรวม ๆ ครอบคลุมทั้งในมุมของภาครัฐบาล ประชาชนและเอกชน ในทุกมิติ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการค้า การลงทุน และความร่วมมือที่เป็นสาขาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ที่ปัจจุบันนี้มีความก้าวหน้ามากระหว่างทั้งสองประเทศ เรื่องความร่วมมือด้านอวกาศที่จีนมีความก้าวหน้า ไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตรงนี้ และมาร่วมในความร่วมมือนี้อย่างใกล้ชิด เรื่องการค้าการลงทุนก็ชัดเจน เรื่องการท่องเที่ยวก็ชัดเจน โดยในทางสถิติ จีนเป็นอันดับหนึ่งในแง่การลงทุนในไทย เป็นอันดับหนึ่งในแง่คู่ค้าของไทย และเป็นอันดับหนึ่งในแง่นักท่องเที่ยวที่ไปไทย เรื่องความร่วมมืออย่างรอบด้านนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นในสิ่งที่ปรากฎให้เราเห็นกับตาในปัจจุบันนี้
ความร่วมมือดังกล่าวสร้างผลประโยชน์ให้ทั้งจีนและไทย ท่านทูตเสริมว่า “ปัจจุบันนี้ ถ้าจะดูเรื่องการค้าการลงทุน ชัด ๆ ก็คือ ทุเรียนไทยที่มาขายในจีน ผมว่า เกินครึ่งหนึ่งของทุเรียนในประเทศจีนมาจากไทย เป็นสิ่งที่เราภูมิใจนำเสนอ”
ไซต์ก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ไทยในจังหวัดอยุธยาภาพถ่ายเมื่อเดือนตุลาคม 2567 (ซินหัว)
ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในกรอบข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ท่านทูตกล่าวว่า ถือเป็นโครงการแฟลกชิป โครงการสำคัญของจีนและภูมิภาคของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ไทยมีความร่วมมือกับจีนหลายประการภายใต้กรอบ BRI ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่สะท้อนถึงหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง คือโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ซึ่งเชื่อมตั้งแต่ จีน-ลาว-ไทยและลงไปทางใต้ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงในภูมิภาคและยังรวมถึงเรื่องการพัฒนาท่าเรือ การพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมต่อกับโครงการ BRI ของจีนได้ ถือเป็นโครงการที่น่าชื่นชมและเป็นการริ่เริ่มของประเทศจีนที่ช่วยเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าหากัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ การพัฒนาเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ทำให้มีการเดินทางไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้น จะเป็นจุดที่ทำให้ประชาชนในภูมิภาคได้มีการพัฒนาที่มากขึ้น ได้เรียนรู้ เข้าใจและติดต่อไปมาหากันได้ง่ายขึ้น เป็นสิ่งที่ประเทศไทยพร้อมและกำลังดำเนินการอยู่ในสิ่งนี้
นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ ณ สถาน
เอกอัครราชทูต กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)