รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ ณ พาวิลเลียนไทยในงาน CISCE ครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง
จีนเปิดฉากงานมหกรรมห่วงโซ่อุปทานนานาชาติแห่งประเทศจีน หรือ China International Supply Chain Expo (CISCE) ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์นิทรรศการนานาชาติจีนประจำกรุงปักกิ่ง (ซุ่นอี้) เมื่อวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2568 โดยมีองค์กร บริษัทและสถาบันกว่า 650 ราย จากประเทศ ภูมิภาค และองค์กรระหว่างประเทศรวม 75 แห่งเข้าร่วมจัดแสดงในพื้นที่กว่า 100,000 ตร.ม. ภายใต้ 7 ฮอลล์นิทรรศการ ประกอบด้วย 6 ห่วงโซ่อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การผลิตขั้นสูง พลังงานสะอาด ยานยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีดิจิทัล เกษตรสีเขียว และชีวิตที่มีสุขภาพดี รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน
ณ พาวิลเลียนไทยในฮอลล์นิทรรศการเกษตรสีเขียว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้จัดแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมเกษตรสีเขียวและความยั่งยืนของไทย ตราสัญลักษณ์มาตรฐานสินค้าและอาหารไทย รวมทั้งแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการ 20 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงฯ มาจัดแสดง เช่น ข้าวตราจินจาง เครื่องปรุงรสโรซ่า น้ำมันรำข้าวพรีเมียม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสกัดจากข้าวเหนียวดำ ทรายแมว มันสำปะหลังไทยแท้ 100% เครื่องนอนยางพาราธรรมชาติ และผลไม้อบแห้งตราฟรุ๊ตคิง รองเท้าจากเปลือกผลไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ นิทรรศการยังนำเสนอผลความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในด้านเครือข่ายการผลิต ห่วงโซ่อุปทาน และแนวโน้มในอนาคต
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ ณ พาวิลเลียนไทยว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ภาครัฐเข้าร่วมงาน โดย ณ พาวิลเลียนแห่งนี้ กระทรวงฯ นำเสนอศักยภาพของไทยในอุตสาหกรรมเกษตรสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้ ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา เพื่อให้บรรลุการจัดหาในห่วงโซ่อุปทานอย่างครบวงจร โดยเฉพาะที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรและการเป็น “ครัวของโลก”
นายเอกฉัตรกล่าวเพิ่มว่า “ถือเป็นโอกาสดีที่สินค้าไทยจะได้มาขยายตลาดในงาน CISCE โดยเฉพาะงานนี้จัดที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีน และยังเป็นวาระการฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน งานนี้ยังเป็นเวทีให้ไทยได้โชว์ศักยภาพของการผลิตของไทย ผู้ประกอบการไทย มาให้ความมั่นใจต่อการค้ากับจีน และเราหวังว่าในอนาคตการค้าระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มมูลค่ามากขึ้น”
สำหรับภาคธุรกิจ CISCE จะมอบโอกาสอันมีค่าในการขยายธุรกิจ การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยวางรากฐานความร่วมมือระหว่างสองประเทศในด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนร่วมกัน ส่งเสริมการบูรณาการกำลังการผลิต และท้ายที่สุดคือการเชื่อมโยงตลาดไทยและจีน และมุ่งสู่ตลาดสากล รองปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว
สำหรับประเทศไทย งาน CISCE มีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับนโยบายของไทยในการเชื่อมโยงกับเอเชียและห่วงโซ่อุปทานการผลิตระดับโลก โดยไทยจะใช้เวทีนี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ระดับนานาชาติและแสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการค้าเกษตรสีเขียว อุตสาหกรรมดิจิทัล การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และการดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรมและทรัพยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก รองปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว
สถานะความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในด้านการค้าและอุตสาหกรรม
รองปลัดกระทรวงพาณิชย์เผยสถานะความร่วมมือล่าสุดระหว่างไทยและจีนว่า ทางกระทรวงฯ จะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (CCPIT) เร็ว ๆ นี้ ซึ่งในความร่วมมือนอกจากจะเป็นการแสดงสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าแล้ว ยังรวมถึงแบ่งปันในเรื่องความรู้ เทคโนโลยี ความรู้ทางด้านนวัตกรรมและส่วนอื่น ๆ เช่น ด้านลอจิสติกส์ รวมทั้งเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สำคัญ ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า
นายเอกฉัตรกล่าวว่า จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตร ยางพารา ผลไม้สด และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีนและไทยได้พัฒนาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น และพัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกด้าน ในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินการเยือนระดับสูงและขยายความร่วมมือทางการค้าอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (ACFTA) 3.0 การส่งเสริมการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
“เชื่อมโลกสู่อนาคตร่วมกัน”
ภายใต้หัวข้อ “เชื่อมโลกสู่อนาคตร่วมกัน” (Connecting the World for a Shared Future) ของงาน CISCE รองปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงบทบาทของงานนี้ว่า CISCE ถือเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการเชื่อมโยงและความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ งานนี้ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้มีการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจและร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีสำคัญในการนำพาการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ด้วยการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ และขยายความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับประเทศต่าง ๆ
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลกในปัจจุบัน ผมขอชื่นชมวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของจีนที่สนับสนุนให้ทุกประเทศร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วม และนวัตกรรม แนวคิดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างกำลังการผลิตคุณภาพสูงใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และบรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน นายเอกฉัตรกล่าว